ไหว้ผีโบ๋ เลี้ยงผีหมู่ ผูกมิตรกับผีที่ทุ่งหว้า

ประเพณีไหว้ผีโบ๋
ประเพณีไหว้ผีโบ๋
“คนจีนมีคตินิยมอยู่ว่า ในเดือน 7 ของทุกปีตามปฏิทินจีน ถือเป็นเดือนแห่งผีร้าย เด็ก ๆ จะถูกห้ามไม่ให้ออกไปเล่นนอกบ้านในตอนกลางคืน เพราะเหล่าวิญญาณที่ถูกกักขังเพื่อรับโทษทัณฑ์ในดินแดนยมโลก จะถูกปลดปล่อยขึ้นมายังโลกมนุษย์เป็นเวลาหนึ่งเดือน … ชาวบ้านจึงแก้เคล็ดด้วยการทำพิธีต้อนรับ โดยเรียกวิญญาณเหล่านี้ว่า … ฮอเฮียตี๋ … ซึ่งหมายถึง พี่น้องที่ดี คือเปลี่ยนผีชั่วร้ายให้กลายเป็นมิตรซะ

สนธิ ลิ่มสายหั้ว ผู้อาวุโสซึ่งคลุกคลีกับประเพณีไหว้ผีโบ๋มาแต่วัยเยาว์ เล่าให้ฟังถึงคติความเชื่อของคนเชื้อสายจีนใน ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน

ไหว้ผีโบ๋
ประเพณีไหว้ผีโบ๋ (ผีหมู่) ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล

ย้อนกลับไปราว 150 ปี อำเภอเล็ก ๆ สงบน่าอยู่ชื่อ “ทุ่งหว้า” เคยเป็นเมืองท่าค้าขายที่ยิ่งใหญ่ในนาม “สุไหงอุเป” มีชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งปลูกพริกไทยกันเป็นจำนวนมาก พริกไทยเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้มหาศาล สำเภาลำใหญ่เข้าเทียบท่า ขนส่งสินค้าไปขายยังเมืองปีนังไม่เว้นแต่ละวัน … สุไหงอุเปเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดจนถูกขนานนามว่า “ปีนังน้อย” ก่อนจะมาซบเซาเงียบเหงาเมื่อยางพาราเข้ามาแทนที่ ชาวจีนบางส่วนอพยพย้ายถิ่นออกไปทำมาหากินในดินแดนใหม่ ส่วนหนึ่งตัดสินใจลงหลักปักฐานอย่างถาวร

ผีโบ๋
ประเพณีไหว้ผีโบ๋ (ผีหมู่) ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล

การอพยพมาทางเรือ อาจประสบอุบัติเหตุเรือล่มบ้าง เจ็บป่วยระหว่างทางบ้าง บางครั้งอาจเสียชีวิตยกลำ บางคนก็มาล้มตายระหว่างประกอบอาชีพอยู่ในทุ่งหว้า คนจีนซึ่งมีฐานะค่อนข้างดี จึงนึกสงสารพวกเขาที่ต้องมาเสียชีวิตโดยไม่มีญาติคอยเซ่นไหว้ จึงคิดเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นมา จนเกิดเป็นประเพณีการไหว้ผีโบ๋ … โบ๋แปลว่า หมู่หรือพวก คือไหว้ทั้งฮอเฮียตี๋และผีที่ไม่มีญาติทั้งหลายแหล่ หลังจากไหว้สารทจีนที่บ้านในวัน 15 ค่ำ เดือน 7 ไปแล้ว 10วัน คือวัน 25 ค่ำ

ผีโบ๋
ประเพณีไหว้ผีโบ๋ (ผีหมู่) ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล

ทุ่งหว้าเคยเป็นชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ ถึงขั้นมีสมาคมตระกูลแซ่เกิดขึ้น โดยมีหลักฐานจากป้ายหินหน้าหลุมศพพบที่ขุดพบ การจะก่อตั้งสมาคมตระกูลแซ่ได้นั้น ต้องมีจำนวนชาวจีนอยู่มากโข … แม้จะอยู่ต่างบ้านต่างเมือง แต่ชาวจีนโพ้นทะเลไม่เคยละเลยธรรมเนียมปฏิบัติ เรื่องแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อบรรพบุรุษผุ้ล่วงลับ ทั้งเชงเม้ง ตรุษ สารท …. แต่ในช่วงสารทจีน จะมีพิธีไหว้ผีโบ๋เพิ่มเติมขึ้นมา ผู้อาวุโสหลายท่านเล่าว่า แต่ละตระกูลแซ่จะจัดพิธีเลี้ยงผีโบ๋กันอย่างคึกคัก เต็มสองฝั่งถนน ต่อมาภายหลังจึงมารวมไหว้ด้วยกันในที่เดียว

ผีโบ๋
ปรเพณีไหว้ผีโบ๋ (ผีหมู่) ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล

ผู้รับผิดชอบงานในแต่ละปีคือ “นายหัว” หรือ “หัวหน้า” เรียกสั้น ๆ ว่า “หัว” ของแต่ละชุมชนในเขตตำบลทุ่งหว้า โดยคัดเลือกจากการเสี่ยงทายด้วยการโยนไม้ “ปั๊วโป๊ย” ซึ่งเชื่อว่าเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างสองภพ ปั๊วโป๊ยต้องตกลงมาลักษณะ “เซ่งโป๊ย” คว่ำหนึ่งอัน หงายหนึ่งอัน มีความหมายว่า “รับ” …. หากเป็นอย่างอื่นคือ คว่ำทั้งสองอัน “อิ้มโป๊ย” ซึ่งมีความหมายว่า ไม่รับ/หัวเราะ หรือ หงายทั้งสองอัน “เฉี้ยวโป๊ย” ยิ้ม/ไม่ปฏิเสธแต่ไม่รับ … ถือว่าหมดสิทธิ์

ผีโบ๋
“ปั๊วโป๊ย” มีความเชื่อว่าเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างสองภพ

ต้องเซ่งโป๊ยหรือรับสามครั้งติดต่อกัน ถึงจะเรียกว่าถูกเลือกเป็นหัวด้วยมติเป็นเอกฉันท์ หัวมีหน้าที่โต่ยหรือเรี่ยไรเข้ากองทุนสำหรับจัดงาน รวมถึงจัดแจงความเรียบร้อยต่าง ๆ ตั้งแต่การซื้อของที่ต้องใช้ในพิธีกรรม อาหารสำหรับเซ่นไหว้ ว่าจ้างพ่อครัวสำหรับงานเลี้ยงในตอนเย็น ฯลฯ

ณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า ซึ่งเคยรับเลือกเป็นหัวมาแล้วถึงสองครั้งบอกกับเรา

ผีโบ๋
ณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ นายก อบต.ทุ่งหว้า ซึ่งผ่านการเป็นหัวมาแล้วสองครั้ง

ในวัน 1 ค่ำ เดือน 7 ซึ่งเชื่อว่าเป็นวันแรกที่ “เซงฮือไต่ตี๋” เทพเจ้าแห่งดิน จะเปิดประตูยมโลก … ชาวจีนในทุ่งหว้าจะจุดธูป เผากระดาษเงิน กระดาษทอง บอกกล่าวต่อฮอเฮียตี๋และวิญญาณเร่ร่อนทั้งหลาย ให้เอาเงินทองไปจับจ่าย ท่องเที่ยวให้สนุกสนาน อย่าได้มาทำร้ายลูกหลานหรือใคร ๆ

ีผีโบ๋
ประเพณีไหว้ผีโบ๋ (ผีหมู่) ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล

ช่วงเช้าของสารทจีนวัน 15 ค่ำ จะตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษภายในบ้าน หลังเที่ยงไปแล้วจะไหว้ฮอเฮียตี๋บริเวณหลังบ้านหรือหน้าบ้าน โดยปูเสื่อหรือกระดาษที่พื้น เพื่อวางของเซ่นไหว้ ต่างจากการไหว้บรรพบุรุษอย่างชัดเจน … หลังไหว้สารทจีน 10 วัน คือวัน 25 ค่ำ จึงจะมีพิธีไหว้ผีโบ๋หรือผีหมู่ขึ้น

ผีโบ๋
ประเพณีไหว้ผีโบ๋ (ผีหมู่) ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล

การไหว้ผีโบ๋ได้หยุดไประหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งในปี พ.ศ.2491 โดยนายเต็กกุ่ย แซ่ลิ้ม กำนันตำบลทุ่งหว้าในขณะนั้น และสืบทอดมาถึงทุกวันนี้ คุณลุงสนธิบอก

ผีโบ๋
ประเพณีไหว้ผีโบ๋ (ผีหมู่) ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล

ปัจจุบันประเพณีการไหว้ผีโบ๋ ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นพิธีกรรมสำคัญประจำปีของชุมชน … ในคืนวัน 24 ค่ำ จะมีพิธีบอกกล่าวและเปิดงานอย่างเป็นทางการ พร้อมมหรสพเฉลิมฉลอง พอหอมปากหอมคอ … ช่วงสาย ๆ ของวันถัดมา (วัน 25 ค่ำ) จะตั้งขบวนแห่เครื่องเซ่นไหว้ เป็นขบวนเล็ก ๆ โดยเด็ก ๆ ในท้องถิ่น ปลูกฝังให้เด็ก ๆ ได้ซึมซับรับรู้ไปในตัว ระหว่างทางจะมีชาวบ้านร้านรวง ช่วยบริจาคเงินร่วมสมทบทุนเป็นระยะ จนถึงสถานที่ประกอบพิธีกรรม บริเวณหน้าตลาดสดเทศบาลตำบลทุ่งหว้า

ผีโบ๋
ประเพณีไหว้ผีโบ๋ (ผีหมู่) ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล

อาหารที่นำไปเซ่นไหว้ มี 2 ประเภทคือ ไหว้เล็ก ๆ ที่บ้าน(ซาแซ้) ประกอบด้วย หมู ไก่ ปลา ผลไม้ต่าง ๆ ถ้าเป็นพิธีใหญ่เรียกว่า … โหงวแซ้ … ห้ามน้อยกว่าห้าอย่างแต่มากกว่าได้ เน้นอาหารที่เป็นมงคลตามความเชื่ออย่างปลาหมึก … แทนน้ำหมึกสีดำที่ใช้เขียนเป็นตัวหนังสือ สื่อถึงความเป็นผู้รอบรู้ หมี่เตียว … เส้นหมี่ยาว ๆ ไม่นิยมตัดเวลานำไปผัด เช่นเดียวกับเวลากิน เพื่อสืบเชื้อสายได้ยืดยาว สัปปะรด … เหมือนมีตารอบทิศ ส่วนขนมนิยมของฟู ๆ แต้มด้วยสีแดงอย่าง ซาลาเปา ถ้วยฟู ฯลฯ ชีวิตจะได้เฟื่องฟู … ของแห้งมีข้าวสาร อาหารกระป๋อง เค้าจะได้นำกลับไปเป็นเสบียง มะม่วงหรือของสีดำเป็นสิ่งต้องห้าม ที่ขาดไม่ได้คือ สุราและน้ำชา

ผีโบ๋
ประเพณีไหว้ผีโบ๋ (ผีหมู่) ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล

การไหว้ผีโบ๋จะเริ่มในเวลาหลังเที่ยงไปแล้ว โดยจะปักธงสีไว้บนของเซ่นไหว้ หัวของเขตต่าง ๆ จะเป็นคนบอกกล่าว โดยยืนไหว้ไม่คุกเข่าเหมือนการไหว้บรรพบุรุษ ต่อจากนั้นจึงจะถึงคิวผู้ที่มาร่วมงาน โดยรับธูปจากผู้ทำหน้าที่พิธีกร เมื่อปักธูปจนครบเรียบร้อย จะทิ้งช่วงเวลาไว้สักระยะ … ก่อนพิธีกรจะถามฮอเฮียตี๋ว่า “มาหรือยัง” พร้อมโยนไม้ปั๊วโป๊ยขึ้นเหนือศรีษะ หากตกลงมาคว่ำหนึ่งอัน หงายหนึ่งอัน พิธีกรจะตะโกนว่า “เซ่งโป๊ย” หมายถึง มาแล้วโดยปีนี้ฮอเฮียตี๋มาเร็วมาก จากการปั๊วโป๊ยเพียงครั้งเดียว

ผีโบ๋
ประเพณีไหว้ผีโบ๋ (ผีหมู่) ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล
ผีโบ๋
ประเพณีไหว้ผีโบ๋ ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล

หลังจากเซ่งโป๊ย คนมาร่วมพิธีจะรุมแย่งธงที่ปักบนของเซ่นไหว้ เพื่อนำไปเก็บไว้ที่บ้าน เพราะถือว่าเป็นของมงคล

จากนั้นจะเป็นการเสี่ยงทายเพื่อเลือกหัวของปีถัดไป โดยใช้บัญชีรายชื่อผู้บริจาค ที่หัวได้ไปโต่ยหรือเรี่ยไรมา ไล่เรียงไปทีละชุมชน บางคราวต้องใช้เวลานานนับชั่วโมง ท่ามกลางเสียงลุ้นเสียงเชียร์กันอย่างสนุกสนาน

บางชุมชนที่คนอยู่เยอะ อาจต้องเลือกหัวสองคนเพื่อคอยช่วยเหลือกัน แม้จะเป็นภาระค่อนข้างหนัก แต่คนที่ถูกเลือกจะรู้สึกภาคภูมิใจ ที่ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่นี้ บางคน … ทั้งชีวิตยังไม่มีโอกาสถูกเลือกเป็นหัวเลยก็มี คุณณรงค์ฤทธิ์ บอกให้ฟังด้วยรอยยิ้ม

ผีโบ๋
ประเพณีไหว้ผีโบ๋ (ผีหมู่) ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล

อาหารเซ่นไหว้ จะถูกนำไปปรุงเป็นเมนูต่าง ๆ สำหรับเลี้ยงผู้คนในช่วงเย็น ระหว่างงาน … หัวของปีนี้จะแบ่งของไหว้อย่างละเล็กละน้อย มอบให้หัวของปีถัดไป คล้ายการส่งไม้ต่อและประกาศให้คนรับรู้ในคราวเดียว … แต่หน้าที่ของ “หัว” ยังไม่สิ้นสุดจนกว่าจะถึงวัน 30 ค่ำ เดือน 7 ซึ่งถือเป็นวัน “กวยมึ้ง” หรือ “วันปิดประตูยมโลก” … คณะหัวต้องมาจุดธูปเทียน เผากระดาษเงิน กระดาษทอง จุดประทัดส่งฮอเฮียตี๋ … พร้อมบอกกล่าว ปีหน้าเดือน 7ค่อยพบกันใหม่

ผีโบ๋
ประเพณีไหว้ผีโบ๋ (ผีหมู่) ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล

เช่นเดียวกับคนไทยเชื้อสายจีนในเขตตำบลทุ่งหว้า ที่ต้องมาพบปะร่วมงานไหว้ผีโบ๋เป็นประจำทุกปี ประเพณีซึ่งแฝงกุศโลบายของบรรพบุรุษ เพื่อยึดโยงผู้คนในชุมชน ให้อยู่รวมกันอย่างกลมเกลียวเหนียวแน่น สืบต่อไปจนชั่วลูกชั่วหลาน

peeboh_016