หุบเขางาม นาม “แม่แจ่ม”

แม่แจ่ม

แม่แจ่ม

เราเลือกใช้ทุกนาทีของเวลาให้คุ้มค่า ด้วยไฟล์ทแรกของสายการบินไทยแอร์เอเชีย สู่สนามบินเชียงใหม่ … นอกจากบริการที่ดีเยี่ยมแล้ว ปัจจุบันผู้โดยสารยังสามารถทำการโหลดกระเป๋าสัมภาระได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องเสียเวลาต่อคิว ด้วยบริการ Self Bag Drop ที่สะดวกรวดเร็ว ด้วยขั้นตอนง่าย ๆ

maejam_002
1. พรินต์ Boarding Pass และ Baggage Tag ที่ตู้ Kios
2. นำ Baggage Tag ที่ได้มาคล้องกระเป๋าสัมภาระที่ต้องการโหลด
3. นำกระเป๋าสัมภาระที่ติด Baggage Tag เรียบร้อยแล้วไปทำการลงทะเบียนที่เคาน์เตอร์ Self Bag Drop โดยดำเนินการตามคำแนะนำผ่านทางหน้าจอระบบสัมผัส

Self Bag Drop สายการบินไทยแอร์เอเชีย
Self Bag Drop สายการบินไทยแอร์เอเชีย

ไทยแอร์เอเชียSelf Bag Drop ของสายการบินแอร์เอเชียมีให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมือง (ในประเทศ) และท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ในประเทศ) สงสัยหรือไม่เข้าใจ สามารถสอบถามได้จากเจ้าหน้าที่ของสายการบินซึ่งยินดีให้คำแนะนำ หรือเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งจองตั๋วเครื่องบินได้ที่ www.airasia.com

maejam_004

ไทยแอร์เอเชียThaiAirAsiaถึงสนามบินเชียงใหม่โดยปลอดภัย รับสัมภาระเรียบร้อย เข้าไปดำเนินเรื่องรถเช่า AVIS ที่ได้จองไว้ล่วงหน้า เคาน์เตอร์ AVIS มีห้องเดียวแต่เปิดเป็นสองฝั่ง ทั้งด้านในตรงจุดรับสัมภาระและด้านหน้าประตูทางออกผู้โดยสารขาเข้า

maejam_006

AVIS Thailand - Chiang Mai Airport
AVIS Thailand – Chiang Mai Airport

จุดรับรถจะอยู่บริเวณลานจอดรถด้านนอก มีป้ายสีขาวแดงกวาดสายตาปราดเดียวก็เห็น รถถูกอัพเกรดให้เป็นรุ่นที่ใหม่และดีกว่า เบาะนุ่มขับนิ่ม พนักงานให้บริการด้วยความใส่ใจ รวดเร็ว พูดจาสุภาพ ประทับใจทุกครั้งที่เลือกใช้บริการ เราว่าการเช่ารถขับเที่ยวแล้วแชร์ค่าใช้จ่ายกับเพื่อนร่วมก๊วน จะหยุดถ่ายภาพ แวะจิบกาแฟ ซื้อของกิน สะดวกและประหยัดเวลาเดินทางมาก  การจองก็แสนจะง่าย เพียงเข้าไปที่ www.avisthailand.com

AVIS Thailand - Chiang Mai Airport
AVIS Thailand – Chiang Mai Airport

AVIS THAILANDออกจากสนามบินไปทาง ถ.สุเทพ แวะเติมพลังมื้อเช้าแถว ๆ ตลาดต้นพยอม มีร้านอร่อยให้เลือกชิมทิวแถว … หมุดหมายปลายทางครั้งนี้อยู่ที่ อ.แม่แจ่ม โดยใช้เส้นทางรอบเมืองเชียงใหม่ ที่เรียกกันจนคุ้นปากว่าถนนเลียบคลองชลประทาน ผ่านหางดง … ดอยหล่อ … จอมทอง … ตามป้ายดอยอินทนนท์ไปเรื่อย ๆ

AVIS THAILAND, CHIANG MAI AIRPORT
ถึงด่านเก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยาน ฯ (ด่านที่ 1) ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าจะไปแม่แจ่ม ค่าธรรมเนียมจะถูกยกเว้น เพราะเป็นเส้นทางสัญจรเชื่อมผ่านไปถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผ่านด่านมาจนถึงหลัก กม.26 เลยไปสัก 100 เมตร เลี้ยวซ้ายลงไปหน่อยเดียว ทิวทัศน์อันสวยงามของ แม่กลางหลวง นาขั้นบันไดแห่งแรก ๆ ที่ผู้คนนิยมเข้ามาท่องเที่ยว รอเราอยู่เสมอ

แม่กลางหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
แม่กลางหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ (ภาพ : ภาคภูมิ แก่นแก้ว)

แม่กลางหลวงในวันนี้ อาจเปลี่ยนไปบ้างตามกาลเวลา ที่พักเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนขึ้น สร้างรายได้ให้ชุมชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง … หากจะให้ครบอรรถรส มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ นำทางโดยมัคคุเทศก์ท้องถิ่น เริ่มเดินเท้าจาก กม.29 ผ่านน้ำตกผาดอกเสี้ยว เลาะเลียบเชิงเขาเข้าหมู่บ้าน พักจิบกาแฟ ฟังเรื่องเล่าถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เมื่อต้นกาแฟเดินทางเข้ามาใจหมู่บ้าน … กอดเกี่ยวความทรงจำดี ๆ และเรื่องราวประทับใจกลับไป

แม่กลางหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
แม่กลางหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ (ภาพ : ภาคภูมิ แก่นแก้ว)

จากแม่กลางหลวงขับจนถึงด่านที่ 2 แจ้งจุดหมายแก่เจ้าหน้าที่เช่นเดิม ผ่านด่านจะมีแยกเลี้ยวซ้ายไปแม่แจ่ม … ระยะทางอีกประมาณยี่สิบกว่ากิโลเมตร เส้นทางแคบ คดเคี้ยว สูงชัน ควรหาโชเฟอร์ที่ผ่านประสบการณ์ขับรถขึ้นลงเขามาบ้าง ถนนบางช่วงขยายช่องทางลาดยางใหม่กริป สองฟากทางวิวงามแจ่ม “ห้ามจอดรถแวะถ่ายภาพ” เพราะอันตรายต่อรถคันอื่นอย่างยิ่ง

KANOM NUD แม่แจ่ม
เค้กเนื้อนุ่ม อร่อยลิ้นที่ KANOM NUD แม่แจ่ม

แม่แจ่มเป็นจุดแวะพักรถก่อนเดินทางไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน นักท่องเที่ยวที่พักค้าง ส่วนใหญ่จึงตั้งใจมากกว่าบังเอิญผ่านมา พวกเราโชคดีมีเพื่อนที่หลงเสน่ห์เมืองนี้ตั้งแต่แรกพบ ตัดสินใจย้ายครอบครัวมาลงหลักปักฐานอยู่อย่างถาวร ใช้พื้นที่ชั้นล่างของบ้าน เปิดเตาอบเบเกอรี่ เสิร์ฟกาแฟหอมชื่อ ขนมนุช (KANOM NUD) คนท้องถิ่น นักท่องเที่ยวไทย/ต่างชาติ แวะเวียนมานั่งคุย จิบกาแฟ ชิมเค้ก โดยเฉพาะเค้กช็อกโกแลต เค้กมะพร้าว ที่ถือเป็นซิกเนเจอร์ของบ้านขนมนุช ร้านหาไม่ยาก ลงจากดอยเข้าเขตตัวอำเภอแม่แจ่ม ถึงสามแยกเลี้ยวซ้ายไปทาง อ.ฮอต อีกไม่ไกลอยู่ซ้ายมือ โทรสอบถามเส้นทางได้ที่ 08 1586 5804

แม่แจ่ม
วิถีชีวิตที่พบเห็นเสมอในเมืองแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

จะว่าไปเมืองนี้เหมาะทั้งปั่นจักรยาน ขับมอเตอร์ไซค์ มีที่ให้เช่าให้ยืมอยู่หลายแห่ง แต่เราเลือกขับรถยนต์ตระเวนไปเรื่อย ๆ เพราะเป็นช่วงฝน บัดเดี๋ยวตกบัดเดี๋ยวหยุด… ภูเขา ต้นไม้ นาข้าว โบราณสถาน วิถีผู้คน อยู่รวมกันอย่างงดงาม … บางแห่งเหมาะมาปิกนิก ตากลม ชมต้นไม้ ฟังเสียงนกร้อง มีลำธารไหลผ่านอย่าง  บ้านนาเรือน ที่เราได้รับคำแนะนำจากเจ้าถิ่นให้แวะเข้าไปชม

บ้านนาเรือง อ.แม่แจ่ม
บ้านนาเรือง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
บ้านนาเรือง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
บ้านนาเรือง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

วัดงามอารามเก่า บรรยากาศร่มรื่น เส้นทางต่อเชื่อมถึงกัน ที่ล้วน “ต้องห้ามพลาด” มีอยู่หลายแห่ง อย่างจิตกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดป่าแดด … ตัววิหารสร้างเมื่อ พ.ศ.2400 ถัดมาอีกราว 30 ปี ทางวัดได้จ้างช่างแต้ม (ช่างวาด) ชาวไทใหญ่ที่ผ่านทางมา … วาดภาพลงบนผนังภายในวิหาร เรื่องราวเกี่ยวกับเวสสันดรชาดก พุทธประวัติ นิทานพื้นบ้าน วิถีชีวิตของชาวแม่แจ่มในขณะนั้น

จิตรกรรมฝาผนังวัดป่าแดด

วัดป่าแดด อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
จิตรกรรมฝาผนัง ภายในวิหารวัดป่าแดด อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

นอกจากชาวลัวะ ชาวไตยวน ซึ่งผลัดเปลี่ยนกันขึ้นครองอำนาจ น่าจะมีชาติพันธุ์อื่นร่วมอาศัยในพื้นที่ เพราะมีวัดซึ่งสร้างขึ้นโดยชาวยางหรือกระเหรี่ยงคือ “วัดยางหลวง” อยู่ไม่ห่างจากวัดป่าแดด ห้ามพลาดเข้าไปกราบพระพุทธรูปภายในวิหาร เพราะไฮไลท์สำคัญอยู่ที่กู่ปราสาทหรือ กิจกุฏิ ซึ่งสันนิษฐานกันว่า น่าจะสื่อความหมายถึงเขา “กิจกูฏ” หรือ “คิชกูฏ” ในประเทศอินเดีย ที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จฯ ไปประทับเผื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นเวลาหลายพรรษา

วัดยางหลวง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
วัดยางหลวง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

ตรงกลางกิจกุฏิ เป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ยังปรากฏจารึกถึงปีที่มีการเฉลิมฉลองบนฐานพระพุทธรูป (พ.ศ.2026) ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช นั่นคือย้อนกลับไปห้าร้อยกว่าปี ชาวบ้านย่านนี้เชื่อว่า กิจกุฏิคือประตูนำไปสู่สวรรค์

วัดยางหลวง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่่
วัดยางหลวง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

ชื่อเสียงของหัตถกรรมผ้าทอ “ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม” นั้นเด่นดังไม่เป็นรองใคร ลวดลายถักทอบนตีนซิ่น งดงามละเมียดละไมใช้เวลามากโข มักนำมานุ่งในงานบุญหรืองานสำคัญ อย่างปีที่ผ่านมาพวกเราได้มีโอกาสมาร่วมงานจุลกฐินที่วัดบ้านทัพ เป็นบุญตาของคนต่างเมือง ที่ได้เห็นผู้เฒ่าผู้แก่ สาวใหญ่ สาวรุ่นกระทั่งวัยเด็ก นุ่งซิ่นสวย ๆ ออกมาจากบ้าน บางผืนมีร่องรอยซ่อมแซม เพราะเป็นผืนที่คุณยายคุณย่านุ่งมาสมัยเริ่มแตกเนื้อสาว … หญิงแม่แจ่มมักเตรียมซิ่นตีนจกไว้หนึ่งผืน ให้ลูกหลาน “ตาน” หรือทำบุญอุทิศให้ เพื่อจะได้นุ่งไปสักการะพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ตามความเชื่อ

ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม
เมื่อมีงานบุญสำคัญ หญิงแม่แจ่มทุกวัย นิยมนุ่งซิ่นตีนจกออกไปร่วมงาน
ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม
ถึงจะเก่าซีด แต่ลายตีนจกยังแจ่มชัด

แม่แจ่มเคยพบปัญหาเรื่องผู้สืบทอดงานทอผ้าในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ในปี พ.ศ.2517 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงเยี่ยมราษฎรแม่แจ่ม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างทอผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม เข้าไปฝึกอบรมการทอตีนจกลายประยุกต์ และทรงส่งเสริมผ้าซิ่นตีนจกลายโบราณให้คงไว้

ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม
นับแต่นั้นมาผ้าตีนจกแม่แจ่มจึงเป็นที่รู้จักกว้างขวาง คนรุ่นใหม่ ๆ กลับมาใส่ใจของใกล้ตัว ชาวบ้านมีรายได้จากการทอผ้าขาย … นอกจากทอเป็นเครื่องนุ่งห่มใช้ในครัวเรือน ยังนิยมนำลายมาทอเป็นหน้าหมอน นอนหนุนในชีวิตประจำวัน หรือจกลายต่อกันเป็นตุงผืนยาวเรียกว่า “ตุงหน้าหมอน” ถวายเป็นพุทธบูชา แขวนบนศาลาหรือวิหารภายในวัด

ผ้าหน้าหมอนแม่แจ่ม

ผ้าหน้าหมอนแม่แจ่ม
ผ้าหน้าหมอน บางครั้งก็ยังทอเป็นตุงหน้าหมอน นำไปถวายเป็นพุทธบูชา

ย่านช้อปปิ้งซิ่นตีนจกอยู่เลยวัดบ้านทัพไปไม่ไกล สองฝั่งถนนมีให้เลือกหลายร้าน สนนราคาตั้งแต่พันต้น ๆ ถึงเรือนหมื่น ตามความละเอียดของลายผ้า ลายเหมือนกันแต่ต่างร้านก็ต่างราคา ดูไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องด่วนตัดสินใจ … ผ้าจะเลือกคนซื้อเอง … อันนี้เป็นความเชื่อส่วนตัวที่เห็นมาแล้วหลายครั้ง สมาชิกเราได้ผ้าซิ่นสวย ๆ กลับมาสองผืน เลยอยากแนะนำร้านสักร้าน Facebook : ประภาพรรณ์ ผ้าทอตีนจกแม่แจ่ม เจ้าของอัธยาศัยดี เข้าถึงหัวใจตีนจกไม่ใช่เพียงคนขายผ้า … ที่สำคัญคือขายในราคาพอเหมาะ

ประภาพรรณ์ ผ้าทอตีนจกแม่แจ่ม
ผ้าตีนจกลายสวย ๆ ที่ร้านประภาพรรณ์

จะให้ครบเครื่อง ลองหาปิ่นปักผมโบราณสักอันมาเข้าคู่ … หญิงชาวล้านนามักปักดอกไม้หอมบนมวยผม นอกจากสวยงามส่งกลิ่นหอม ยังแฝงคติความเชื่อเรื่องการบูชาขวัญบนศรีษะและบูชาพระพุทธเจ้า ภายหลังมีการทำปิ่นรูปทรงคล้ายเจดีย์ ลวดลายคล้ายดอกไม้ มาประดับขัดมวยผมให้อยู่ทรง ช่างทำปิ่นโบราณมีอยู่คนเดียวคือ ลุงก้อนแก้ว อินต๊ะก๋อน ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว แต่ลูกหลานยังสืบทอดการทำปิ่นด้วยกรรมวิธีแบบโบราณทุกขั้นตอน  ตั้งแต่การตัดแผ่นโลหะขึ้นรูปเป็นหัวปิ่น ดุนลาย สลักลาย เสริมด้านในด้วยครั่งให้ปิ่นอยู่ทรง เชื่อมหัว – ฐาน – เข็มปิ่น ด้วยหัวเป่าไฟน้ำมันก๊าดแบบใช้เท้าเหยียบที่เรียกว่า “ขาต๊ะ” โดยใช้ชื่อว่า “ปิ่นแก้วจันทร์”

ปิ่นปักผมแก้วจันทร์
“ปิ่นแก้วจันทร” ยังคงสืบทอดวิธีการทำปิ่นวิธีแบบโบราณทุกขั้นตอน

จากปิ่นทองเหลืองธรรมดา ยังมีเงินและนิเกิล เพิ่มความสวยงามด้วยหินสีหรืออัญมณีประดับบนหัวปิ่น ยังมีปิ่นดอกไม้ บางแบบอาจจะต้องสั่งล่วงหน้าเพราะใช้เวลาพอสมควร ใครไม่สะดวกเข้าไปชมถึงที่ ลองเข้าไปดูได้ที่ Facebook : ปิ่นปักผมแม่แจ่ม สงสัยอะไรสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.08 1796 4983, 0 6226 3518

ปิ่นปักผมแก้วจันทร์
ปิ่นแก้วจันทร์ … มีทั้งปิ่นธรรมดาและปิ่นดอกไม้

ชาวแม่แจ่มยุคก่อน มักมารองน้ำจากบ่อน้ำที่หน้า วัดพุทธเอ้น ไปดื่มกินที่บ้าน เป็นบ่อที่มีน้ำไหลออกมาตลอดทั้งปีเป็นที่อัศจรรย์ ปัจจุบันบางหลังยังทำเช่นนั้นอยู่ ชาวบ้านถือเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ น้ำจากบ่อจะไหลลงสู่สระของพระอุโบสถกลางน้ำ ซึ่งปกติแล้วปิดตายไม่ให้คนเข้า ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ทางวัดเปิดประตูให้ไปเข้ากราบพระพุทธรูปด้านใน แต่อนุญาตเฉพาะผู้ชายเท่านั้น ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา

วัดพุทธเอ้น
พระพุทธรูป ภายในพระอุโบสถกลางน้ำ วัดพุทธเอ้น อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
วัดพุทธเอ้น อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
วัดพุทธเอ้น อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

ต้นข้าวเขียวเข้มเต็มแปลงนา ทั้งนาขั้นบันไดและนาพื้นราบ เราสามารถขับรถเที่ยวชมความสวยงามแบบง่าย ๆ แม้แต่หน้าบ้านขนมนุช ก็มีนาข้าวสวย ๆ ให้ได้ชม … ในน้ำยังมีปลา ข้างคันนายังมีกบ กลิ่นต้นข้าวหอมชื่นใจ

ติดตามภาคต่อ พาไปเที่ยวนาข้าวสวย ๆ ได้ใน … วิวแจ๋ว …ในเมืองแจ่ม

อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่