บ้านป่าแป๋ แผ่นดินแห่งความสุข

บ้านป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

บ้านป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

เป็นบุญตาของคนพื้นราบอย่างเรา ได้มีโอกาสเห็นและสัมผัส “เหรียญที่ระลึกชาวเขา” ที่สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเพื่อใช้แทนบัตรประชาชน ด้านหลังเป็นรูปแผนที่ประเทศไทย ตอกโค้ดอักษรย่อของจังหวัดและหมายเลขประจำเหรียญ เมื่อมีบัตรประชาชนถูกต้องตามกฎหมาย ทางการได้ขอคืน แต่บางคนขอเก็บไว้

“เหรียญนี้เป็นของพ่อผม ตอนนั้นผมอายุประมาณเจ็ดขวบ ได้รับพระราชทานชุดนักเรียนสองชุดจากพระหัตถ์ในหลวง”

ส่างลา ไพรมีค่า ผู้ใหญ่บ้านป่าแป๋ ชุมชนชาวเลอเวือะ (ลัวะ) หมู่ 3 ต.ป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ถ่ายทอดความทรงจำวัยเยาว์ ครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จ ฯ บ้านป่าแป๋เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2513

เหรียญที่ระลึกชาวเขา บ้านป่าแป๋

เป็นห้วงเวลาหลังไฟไหม้หมู่บ้านครั้งใหญ่บวกกับภัยแล้ง ชาวบ้านตกอยู่ในสภาวะยากแค้นขาดแคลนข้าว ต้องขอซื้อหรือหยิบยืมจากชุมชนข้างเคียง เงื่อนไขการจ่ายคืนคือดอกเบี้ยร้อยละ 50 ยืม 100 ถัง ใช้คืน 150 ถัง บางมื้อต้องหุงผสมข้าวโพด ข้าวฟ่าง เพื่อประหยัดข้าวสาร ไม่ก็กินกลอยนึ่งต่างข้าว

ปีเตอร์ กุนสตาร์ทเตอร์และภรรยา นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งเข้ามาทำงานวิจัยที่บ้านป่าแป๋ในช่วงเวลานั้น ส่งนำเรื่องดังกล่าวไปยัง หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จ ฯ ยังบ้านป่าแป๋ พระราชทานสิ่งของและทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 20,000 บาท ใช้เป็นทุนจัดตั้ง “ธนาคารข้าว” เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2513 นับเป็นธนาคารข้าวแห่งแรกของประเทศและของโลก

บ้านป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

“เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งลงจอดกลางทุ่งนาในหมู่บ้าน สมัยนั้นข้าวถังละสิบบาท เงินสองหมื่นจึงเป็นเงินจำนวนเยอะมากสำหรับชาวเขาอย่างเรา ธนาคารข้าวที่ตั้งขึ้นมา จะมีชาวบ้านเป็นคณะกรรมการบริหารดูแล หากยืมข้าว 5 ถัง จ่ายคืน 6 ถัง คิดดอกเบี้ย 1 ถัง ยืมสิบจ่ายสิบสอง ต้องยืมห้า สิบหรือสิบห้าถัง เพื่อง่ายต่อการคิดดอกเบี้ย”

บ้านป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

หลังเก็บเกี่ยว ข้าวจะถูกเก็บเข้ายุ้งฉางในบ้าน แบ่งส่วนหนึ่งฝากเข้าธนาคารข้าว ส่างลาบอกว่าแถวนี้ไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องฝิ่นหรือยาเสพติด แต่มีปัญหาการตัดไม้ขยายพื้นที่ปลูกข้าวไร่ ในเวลานั้นรอบ ๆ หมู่บ้านจึงมีแต่เขาหัวโล้น เพราะไม่มีใครเห็นคุณค่าและความสำคัญของป่าในระยะยาว ต้องการพื้นที่ปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว พระองค์รับสั่งให้ฟื้นฟูป่าเพื่อสร้างต้นน้ำ ส่งเสริมอาชีพอย่างการปลูกผัก งานฝีมือ การทอผ้า ฯลฯ และเสด็จ ฯ เยี่ยมราษฎรเพื่อติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานเรื่อยมา บ้านป่าแป๋แห่งนี้ พระองค์เสด็จ ฯ มาถึง 5 ครั้ง

บ้านป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

“ชาวบ้านทูลเกล้า ฯ ถวายเงินสองหมื่นบาทคืน ตอนที่ในหลวงเสด็จ ฯ ปี 2524 ทรงแบ่งเงินจำนวนนั้น พระราชทานให้หมู่บ้านอื่น ๆ เพื่อเป็นทุนก่อตั้งธนาคารข้าว โดยใช้หมู่บ้านเราเป็นต้นแบบ”

ชีวิตความเป็นอยู่เปลี่ยนเหมือนพลิกฝ่ามือ ถนนสายเล็ก ๆ เกิดขึ้นเพื่อพาชาวบ้านออกสู่โลกภายนอก ต้นไม้ยืนเบียดกันแน่นภูเขา ปลาฝูงใหญ่ว่ายไปมาอย่างเป็นสุขใน “ห้วยแม่อมลาน” ธารน้ำเย็นใสปิ๊งซึ่งไหลจากยอดเขา ผักโรงเรือนอย่าง ผักกาดฮ่องเต้ คอส โอ๊คลีฟเขียว โอ๊คลีฟแดง ฯลฯ พาเหรดเข้าร้านอาหารดัง เสิร์ฟบนเครื่องบินอย่างสง่าผ่าเผย ผ้าทอมือนอกจากส่งโครงการหลวง ยังมีออเดอร์จากร้านค้าในเมืองเชียงใหม่ ชนิดขอสั่งเพิ่มแต่ชาวบ้านทอส่งให้ไม่ไหว

บ้านป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

“เมื่อก่อนหมู่บ้านเราอยู่ในพื้นที่ส่งเสริมของ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย แต่ตอนหลังมีการจัดตั้งศูนย์ ฯ แม่สะเรียง แล้วย้ายบ้านป่าแป๋เข้ามาอยู่ศูนย์แห่งใหม่ ทุกวันนี้ไม่มีใครยืมข้าวจากธนาคาร ต้องใช้วิธีบังคับยืม หมุนเวียนข้าวเก่าออก เก็บข้าวใหม่เข้าธนาคาร แต่ชาวบ้านเต็มใจให้ความร่วมมือ”

ผู้ใหญ่ส่างลาพาเดินเที่ยวชมหมู่บ้าน แวะตลาดชุมชนเล็ก ๆ ดูต้นลิ้นจี่ที่สมเด็จย่าทรงปลูกไว้ในโรงเรียน ผู้ชายส่วนใหญ่เชี่ยวชาญชำนาญงานช่าง มักถูกจองตัวให้ไปทำงานตามที่ต่าง ๆ หลังฤดูทำนาแล้วเสร็จ ผู้หญิงถ้าไม่ปลูกผักโรงเรือน ก็เข้าร่วมกลุ่มทอผ้า ส่วนคนเฒ่าคนแก่มักหาอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำอยู่กับบ้าน

บ้านป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

ชาวเลอเวือะ 94 หลังคาเรือน นับถือศาสนาคริสต์และพุทธ จึงมีโบสถ์คริสต์และศาสนสถานแบบพุทธซึ่งศรัทธาญาติโยมไปสร้างไว้อย่างสวยงาม ขณะเดียวกันก็ไม่ทอดทิ้งขนบเดิมเรื่องการไหว้เทวดา เลี้ยงผีเจ้านาย ผีเรือน

“ก่อนปลูกข้าวต้องไหว้ขออนุญาตแม่พระธรณี ประมาณสองเดือนจะไหว้อีกครั้ง เพื่อให้แม่พระธรณีดูแลต้นข้าวให้งอกงาม หลังเก็บเกี่ยวจะมีพิธีทำขวัญข้าว”

บ้านป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

วิธีเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านแบบง่าย ๆ คือเข้าพักในโฮมสเตย์ที่มีทั้งหมด 8 หลัง ชิมเมนูท้องถิ่นอย่าง “สะเบื๊อก” ที่ปรุงเนื้อสัตว์อาจเป็น ไก่ หมูหรือวัว สับแล้วคั่วให้สุก พริกสด ตะไคร้ หอม กระเทียม รากผักชี สับละเอียดคลุกเคล้ากับเนื้อที่เตรียมไว้ รสชาติเหมือนลูกพี่ลูกน้องกับลาบอีสานที่ขาดข้าวคั่ว กินกับเฮงาะเลอทิญ ข้าวพันธุ์พื้นเมืองเมล็ดอ้วนป้อม เนื้อนุ่มคล้ายข้าวญี่ปุ่น ที่ชาวบ้านปลูกเองสีเอง

บ้านป่าแป๋ แม่ฮ่องสอน

“สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง มองเห็นว่าศักยภาพของหมู่บ้านเราสามารถทำโฮมสเตย์ได้ จึงให้คำปรึกษาแนะนำ พาไปดูงานตามที่ต่าง ๆ ถ้าอยากเห็นนาข้าวเขียว ๆ ให้มาหน้าฝน ข้าวเหลืองช่วงต้นเดือนตุลา ที่หมู่บ้านจะเกี่ยวประมาณวันที่ 20 ตุลาของทุกปี หลังจากนั้นจะเข้าฤดูหนาว ตอนเช้าหมอกขาวโพลนทั้งหมู่บ้าน”

บ้านป่าแป๋ แม่ฮ่องสอน

ยังมีกิจกรรมเดินป่าหาสมุนไพร เที่ยวน้ำตก ระยะทางไปกลับไม่เกิน 3 กิโลเมตร เป็นบริการเสริม ส่วนใครอยากเพิ่มเติมตรงไหนถามไถ่ได้ล่วงหน้า คิดราคาค่าที่พัก 150 บาท/คน/คืน อาหารมื้อละ 80 บาท บริการนำเที่ยว 500 บาท/คณะ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 08 2194 7651, 08 8434 4902, 06 1361 8968

บ้านป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

“ถ้าในหลวงไม่เสด็จมาในตอนนั้น วันนี้อาจจะไม่มีบ้านป่าแป๋แล้วก็ได้” ส่างลาบอก

ดอยสูงหนทางชันยากเข้าถึง เฮลิคอปเตอร์ของพระราชาผู้ทรงเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา นำพาความอุดมสมบูรณ์ไปทุกหนแห่ง ดินที่เคยแห้งเป็นฝุ่นผงกลับชุ่มชื้น พืชผลเติบโตได้อย่างน่าอัศจรรย์ หาใช่อภินิหารเวทมนตร์ใด ๆ พระองค์เพียงมอบศาสตร์ง่าย ๆ ให้ดูแลรักษาธรรมชาติ แล้วธรรมชาติจะมอบสิ่งดีงามตอบแทนให้แก่เรา ป่ามีน้ำมาดินดีเพาะปลูกได้พอกินเหลือเก็บ

บ้านป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน