ประเพณียกธง บ้านเบญพาด

ยกธงบ้านเบญพาด

yoktong_018

นอกจากธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ซึ่งเกี่ยวพันสงครามหลายยุค กาญจนบุรียังหลากหลายด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง ไทย จีน มอญ ลาว กะเหรี่ยง ฯลฯ มีวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น ตรุษสงกรานต์ที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่าคนเมืองนี้ เล่นสาดน้ำสงกรานต์วันที่ 17 เมษายน เพียงวันเดียว ร้านรวงหลายแห่งขึ้นป้ายบอกไว้ล่วงหน้า เรียกว่าปิดเมืองเล่นก็น่าจะใช่

ยกธงบ้านเบญพาด

“เริ่มมาแต่เมื่อไหร่ยายไม่รู้หรอก ตอนเด็ก ๆ ยายก็เห็นแล้ว สี่วันแรกเป็นวันเตรียมธง วันที่ 17 ท้ายตรุษสงกรานต์จะเป็นวันแห่”

คุณยายพะยอม โพธิศรี วัย 78 ปี บอกเราระหว่างนั่งดูลูกหลานช่วยกันประดับตกแต่งธง คอยให้คำแนะนำ หยิบจับสิ่งที่พอทำได้ ในฐานะผู้อาวุโส ยายยังถ่ายทอดความทรงจำวัยเยาว์เกี่ยวกับประเพณียกธงอีกว่า สมัยก่อนเสาธงจะถูกปักไว้กลางทุ่งนาหรือที่โล่งไม่มีต้นไม้ขวางทางลม ทำให้ธงสะบัดพลิ้วอย่างสวยงาม

ประเพณียกธง บ้านเบญพาด

ประเพณียกธงของชุมชนเบญพาด ต.พังตรุ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ไม่มีลายลักษณ์อักษรบันทึกไว้แน่ชัด ว่าเริ่มกันมาแต่เมื่อไหร่ แต่สันนิษฐานว่าคงมีมานานเกินร้อยปี บรรพบุรุษของชาวเบญพาด เป็นชาวลาวอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากเมืองเวียงจันทน์และพื้นที่ใกล้เคียง มีทั้งลาวครั่ง โซ่งหรือไทยทรงดำ ฯลฯ

“เมื่อก่อนต้นไม่สูงมาก ข้อสำคัญคือชายธงห้ามระพื้น ต้องทำทุกปี มากบ้างน้อยบ้างไม่เคยขาด”

ประเพณียกธง บ้านเบญพาด

เสาหรือคันธงธง ใช้ไม้ไผ่ลำต้นตรง ขัดผิวจนเกลี้ยง ลงขมิ้นเพื่อความสวยงาม กิ่งก้านส่วนปลายเอาไว้ผูกของประดับผ้าสี งานจักสานจากใบลาน ใบตาล แฝงด้วยความหมาย ผูกพันกับธรรมชาติรอบตัว อย่าง “ปลาตะเพียน” สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของน้ำ “นก” หมายถึงท้องนา “ตะกร้อ” บอกเล่าการละเล่นหลังฤดูเก็บเกี่ยว ฯลฯ ใยแมงมุม ดอกไม้ประดิษฐ์ ริบบิ้น ของประดับแวววับอื่น ๆ นำมาเพิ่มทีหลังตามยุคสมัย

ประเพณียกธงบ้านเบญพาด
ผืนธงดั้งเดิมทำจากผ้าดิบหรือผ้าขาวม้าเย็บต่อกัน เสร็จงานก็ยกถวายวัด ถ้าเป็นผ้าขาวม้าทางวัดจะแจกจ่ายอุบาสกอุบาสิกาที่มาถือศีลปฏิบัติธรรม ปัจจุบันใช้ผ้าที่หาง่าย ๆ ตามท้องตลาด เน้นสีสันฉูดฉาด ผืนยาวพอเหมาะกับเสา ชายธงติดพวงอุบะ ประดับประดาด้วยดอกไม้ รวมถึง “ไอ้แก้ว ไอ้เปลือย” ที่ตัดจากใบตาล ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนผู้ชายและผู้หญิง

“สมัยก่อนแถวนี้ปลูกฝ้าย ก็เอาปุยฝ้ายมาประดับ ดอกรัก ดอกไม้ เดินเก็บตามริมทาง เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว จะไปซื้อก็แพง เลยต้องใช้ดอกไม้พลาสติกแซมด้วยลูกปัดแทน ติดแต่พอดี ไม่งั้นจะหนัก ลมพัดไม่ไป”

ประเพณียกธง บ้านเบญพาด

แป้นสำหรับใช้แขวนธง ทำด้วยไม้แกะเป็นรูปทรงพญานาค ลงสีสันอย่างสวยงามทั้งส่วนหัวและหาง ยึดกับไม้ไผ่ด้วยสลักอย่างแน่นหนาแข็งแรง ตามความเชื่อว่าพญานาคจะดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล น้ำท่าอุดมสมบูรณ์

“ความหมายที่แท้จริงของประเพณี มันสืบหาข้อเท็จจริงไม่ได้ แต่เชื่อว่าทำแล้วหมู่บ้านจะมีความสุข น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย มีแต่สิ่งดี ๆ เกิดขึ้น” ยายพะยอมบอก

ประเพณียกธง บ้านเบญพาด

เช่นเดียวกับยายน้อย ม่วงศรี วัย 75 ปี ชาวชุมชนไทยทรงดำ ซึ่งบอกว่าไม่รู้ที่มาและความหมายของประเพณี

“ลูกหลานไม่ว่าจะเรียนหรือไปทำงานอยู่ที่ไหน ทุกปีจะต้องกลับมาช่วยกันทำธง มันเลยจดจำทำต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น”

ประเพณียกธงบ้านเบญพาด

เรารู้มาว่าประเพณียกธงของชาวลาวครั่งแบบนี้ ยังมีที่สุพรรณบุรี นครปฐม เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เรี่ยไรทุนและจตุปัจจัยถวายวัดที่เรียกว่า “ผ้าป่าลาว” เพื่อใช้ในกิจการของวัดอย่าง ซ่อมแซมกุฎิ เสนาสนะ ศาสนสถานที่ชำรุดก่อนเข้าฤดูฝน พระเณรจะได้ไม่ลำบาก … พญานาคเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากนาคมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา สามารถดลบันดาลให้ฝนตก น้ำท่าบริบูรณ์เพาะปลูกเจริญงอกงาม ที่บ้านเบญพาด จึงน่าจะมีคติความเชื่อทำนองเดียวกัน

ประเพณียกธง บ้านเบญพาด

วันที่ 17 เมษายน บ้านเบญพาดบรรยากาศดูคึกคักสนุกสนาน เสียงเพลงจากเครื่องเสียงที่แต่ละชุนชน ขนกันมาชุดใหญ่ ดังกระหึ่มมาแต่ไกล รูปขบวนนำหน้าด้วยพุ่มผ้าป่า ตามด้วยเสาธงที่ตกแต่งอย่างสวยงามตามจินตนาการ ขบวนย่อย ๆ แต่ละชุมชนจะมาพบกันบริเวณสามแยกก่อนจะเลี้ยวไปวัด สาว ๆ หลายคนที่ดูเป็นกุลสตรี นั่งร้อยดอกไม้ สานปลาตะเพียน ที่เห็นเมื่อวันวาน ต่างสนุกสุดเหวี่ยงไปตามจังหวะ เน้นสามช่าเป็นหลัก ทำให้นึกถึงคำพูดที่สาวเจ้าบอกเราไว้

“พรุ่งนี้ … พวกหนูจะไม่ใช่อย่างที่พี่เห็นวันนี้”

ประเพณียกธง บ้านเบญพาด

หนึ่งปีมีเพียงครั้งเดียว ทุกคนจึงปล่อยกันเต็มที่ทั้งรุ่นเด็กรุ่นใหญ่ คนเฒ่าคนแก่  … ขบวนธงทั้ง 7 ขบวน มีจุดหมายปลายทางเดียวกันคือ วัดเบญพาด พุ่มผ้าป่าและธงถูกนำไปเวียนรอบอุโบสถสามรอบ ก่อนเข้าไปวางเตรียมถวายในศาลาการเปรียญ ส่วนผืนธงจะถูกนำมาวางเตรียมไว้ที่หลัก ซึ่งปักไว้บริเวณลานวัด

ประเพณียกธง บ้านเบญพาด

คันธงไม้ไผ่เข้าประจำตำแหน่ง ตรงเสาหลักสองเสาซึ่งเจาะรูสอดสลักสำหรับยึด ลักษณะเหมือนเสาธงชาติ ชาวบ้านจะนำน้ำหอมน้ำปรุงลอยดอกมะลิซึ่งเตรียมมาจากบ้าน ปะพรมด้วยก้านมะยมตั้งแต่โคนเสาไปถึงยอด ไม่ได้จำกัดว่าต้องทำเฉพาะชุมชนของตนเอง ทุกคนสามารถทำได้กับเสาทุกต้นที่เข้าร่วมประเพณี

“เดี๋ยวนี้มีประกวดด้วย ใครยกธงเร็ว สูง สวยกว่าเพื่อน แต่ไม่ได้มีรางวัลอะไรให้หรอก มันเป็นความภาคภูมิใจของหมู่บ้าน” ชาวบ้านท่านหนึ่งบอก

ประเพณียกธง บ้านเบญพาด

ถึงช่วงสำคัญ … ชาวบ้านจะร่วมกันถวายผ้าป่า รับศีลรับพรจากพระสงฆ์เพื่อความเป็นสิริมงคล จบพิธีกรรมทางศาสนา ต่างก็รอฟังสัญญาณเพื่อยกธง เพียงเสี้ยววินาที เสียงไชโยโห่ร้องด้วยความปีติยินดีดังก้องวัด เมื่อเสาแต่ละต้นพาธงขึ้นไปอวดโฉมอย่างสวยงาม … แต่มีหนึ่งชุมชนที่เสาธงหักกลาง ทว่าภาพที่เห็นคือ ความสามัคคีของชาวบ้านแม้จะอยู่คนละชุมชน ต่างช่วยหยิบโน่นฉวยนี่ มามัดมาดามจนสามารถยกเสาขึ้นได้สำเร็จ

ประเพณียกธง บ้านเบญพาด
… สามัคคีคือพลัง ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่คือน้ำใจที่มอบให้กัน …

เราคาดการณ์ว่า หลังยกธงสำเร็จ คงมีการเฉลิมฉลองเต้นรำ ดื่มกินกันเต็มเหนี่ยวภายในวัด … แต่ที่คิดผิดมหันต์ … ชาวบ้านยืนชื่นชมกันเพียงชั่วครู่ แล้วต่างแยกย้ายบ้านใครบ้านมัน ในวัดไม่มีขยะ ขวดน้ำพลาสติก หลงเหลือให้ซาเล้งเก็บไปขาย ทุกคนพร้อมใจนำขยะกลับไปทิ้งที่บ้าน วัดสะอาดเงียบสงบ ราวกับไม่เคยมีคนนับพันเหยียบย่างเข้ามา … หลวงพ่อนำลูกวัด สวดมนต์ทำวัตรเย็นเป็นปกติ ไม่ต้องเหนื่อยเก็บกวาด เหมือนหลายวัดที่ทิ้งภาระให้พระเณร

ประเพณียกธง บ้านเบญพาด
การเคารพและให้เกียรติ เป็นสิ่งหนึ่งที่เราสังเกตเห็น เด็กหนุ่ม ๆ ไม่ปะแป้งผู้หญิงต่างชุมชน นอกจากเพื่อนกัน ปะนิดแต้มหน่อยด้วยความสุภาพ สนุกเต็มที่แต่มีสามัญสำนึก รับผิดชอบส่วนรวม ผู้หลักผู้ใหญ่ไม่ต้องมาคอยห้ามปรามตักเตือน ถึงเวลายกธงก็ช่วยร่วมแรงอย่างแข็งขัน เชื่อว่าผ่านการปลูกฝังกันมาเป็นอย่างดี

ประเพณียกธง บ้านเบญพาด“เขาจะตั้งไว้ 4-5 วัน บางทีก็เป็นอาทิตย์ ถึงปลดลงมา ผ้าถวายวัดเอาไปใช้ประโยชน์ ผูกโบว์สีเวลามีงาน ส่วนพญานาคจะเอากลับไปใช้อีกได้”

ประเพณียกธง บ้านเบญพาดประเพณียกธง บ้านเบญพาดประเพณียกธงบ้านเบญพาด นอกจากความสนุกสนาน ยังแฝงคติความเชื่อ เป็นอุบายให้ลูกหลานที่อยู่ต่างบ้านกลับถิ่นฐาน พบหน้าญาติพี่น้อง สอบถามสารทุกข์สุกดิบ ทำอะไรอยู่ที่ไหน ฯลฯ จะได้ไม่ลืมว่าเทือกเถาเหล่ากอของตนเป็นใคร พร้อมทำหน้าที่สืบสานประเพณีอันดีงามของบรรพบุรุษ ไม่ให้สูญหายไปจากชุมชน

artoftravelercom