“หัวแดงตีนก่าน” สวมใส่สไตล์ไทหล่ม

แม้จะต่างพ่อต่างแม่ หลากที่มาหลายนิสัย แต่ “คนไทหล่ม” ก็มีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวเชื้อสายจากดินแดนล้านช้างหลวงพระบาง ไม่ว่าจะเป็นวิถีวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา อาหารการกิน และหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นคือเครื่องแต่งกาย ที่เพียงเห็นครั้งแรกก็รู้ได้ทันทีว่านี่คือคนไทหล่ม

หัวแดงตีนก่าน

 

ซิ่นหัวแดงตีนก่าน

ทองยุ่น ก้อนดี หญิงกลางคนแห่งชุมชนบ้านห้วยโปร่ง ต.บ้านหวาย อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ผู้เป็นโต้โผสำคัญในการรือฟื้นเอกลักษณ์ผ้าซิ่นไทหล่มที่รู้จักกันในชื่อ “ซิ่นหัวแดงตีนก่าน” หรือ “ซิ่นหมี่คั่นน้อย” หลังสูญหายไปเกือบ ๓๐ ปี ด้วยปัจจัยของยุคสมัยและขั้นตอนการทอ มัดย้อม มัดหมี่ ที่แสนจะยุ่งยาก รวมทั้งช่างฝีมือก็มีน้อย แต่ด้วยจังหวะประจวบเหมาะที่การท่องเที่ยวโดยชุมชนเข้ามาในหมู่บ้านแห่งนี้ ป้าทองยุ่นจึงรวมกลุ่มคนในหมู่บ้าน ที่เป็นช่างทอผ้าได้กว่า ๒๒ กี่ จัดตั้งเป็น “กลุ่มทอผ้าไทหล่มบ้านหวาย” พร้อมๆ กับการฟื้นฟูการแต่งกายแบบไทหล่ม เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์และความภาคภูมิใจของคนในชุมชน

จากที่นั่งทอเป็นครั้งคราวเพื่อใช้เองในครัวเรือน มาถึงวันนี้ครบ ๓ ปีเต็มแล้วที่ใต้ถุนบ้านของคนห้วยโปร่งแทบจะไม่ว่างเว้นจากเสียงกี่ทอผ้า ด้วยเหตุผลที่ว่า

“เพราะนี่คือรากเหง้า นี่คือตัวตน จากบรรพบุรุษลาวล้านช้าง”

ซิ่นหัวแดงตีนก่าน

 

ซิ่นหัวแดงตีนก่าน

amazing ไทยเท่ เสน่ห์เส้นทางผ้าเพชรบูรณ์

ซิ่นหัวแดงตีนก่าน
เอกลักษณ์ ๑ เดียวในโลก

คำผญา* โบราณได้กล่าวไว้ว่า “หญิงนุ่งซิ่นหัวแดงตีนก่าน ผมเกล้าม้วน ถือผ้าเบี่ยงแพร” ถือเป็นคำกล่าวที่สะท้อนให้เห็นค่านิยมแฟชั่นของสาวไทหล่มที่โดดเด่นมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะหัวซิ่นมัดดอกย้อมสีแดงสด ถือเป็นอัตลักษณ์หนึ่งเดียวไม่ซ้ำใคร ทั้งตัวซิ่นที่มีลวดลายละเอียดประณีต อันเกิดจากความช่างสังเกตของปู่ย่าตายาย ในการหยิบจับสิ่งละอันพันละน้อยจากธรรมชาติ ความเชื่อทางศาสนา วิถีชีวิต บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์เหล่านั้นลงบนผืนผ้าเป็นลายโบราณให้คนรุ่นหลังถักทอสานต่อ

ไม่ว่าจะเป็นลายนาค ลายขอ ลายเสาหลา ลายกระเบื้องคว่ำกระเบื้องหงาย หรือลายปราสาทผึ้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในลวดลายเอกลักษณ์ที่ช่างทอไทหล่มสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยเป็นลายที่สอดคล้องกับประเพณีแห่ปราสาทผึ้งในเทศกาลออกพรรษาของชาวบ้าน ลวดลายเล็กละเอียดเหล่านี้ใน ๑ ผืน จะมีตั้งแต่ ๑ – ๘ ลาย คั่นสลับกันไป ช่างทอจะปล่อยกระสวยเส้นต่อเส้น ทั้งยังบรรจงคัดลายทุกเส้นอย่างใจเย็น ทำให้มั่นใจได้เลยว่าซิ่นแต่ละผืน ล้วนผ่านความเอาใจใส่ของผู้ทอทุกเส้นด้าย

ซิ่นหัวแดงตีนก่าน

 

ซิ่นหัวแดงตีนก่าน

o หัวซิ่นสีแดง ย้อมจากครั่งหรือฝาง มีทั้งขิดลายและมัดย้อม
o ตัวซิ่น ลายตั้งขั้นทางยืนสลับลวดลายที่เกิดจากการมัดหมี่ หรือ หมี่คั่นน้อย
o ตีนซิ่น ทอด้วยด้ายเส้นยืนมีสีตัดกับตัวซิ่น โดยทอเป็นลายขวาง เรียกว่า ตีนก่าน (ก่าน แปลว่า ทางขวาง ในภาษาลาว) สาวไทหล่มนิยมสวมกับเสื้อแขนกระบอก พาดผ้าเบี่ยงลายไส้ปลาไหล

การทอผ้าซิ่นหัวแดงตีนก่านนั้น ใช่ว่าจะทำเสร็จได้ในคราวเดียว เพราะต้องแยกส่วนประกอบกันทำ ช่างจะต้องมัดย้อมหัวซิ่นสีแดง ทอตัวซิ่นหมี่คั่นน้อย (เป็นส่วนที่ใช้เวลานานสุด) และทอตีนซิ่นลายก่าน จากนั้นจึงนำส่วนประกอบทั้ง ๓ มาเย็บรวมกัน หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปก็จะเป็นซิ่นที่ไม่สมบูรณ์
*(คำผญา เป็นคำกลอนหรือคำปรัชญาของลาวในและคนไทยภาคอีสานโบราณ ซึ่งภาษาสืบทอดมาจากภาษาของอาณาจักรล้านช้าง)

ซิ่นหัวแดงตีนก่าน

ซิ่นหัวแดงตีนก่าน

amazing ไทยเท่ เสน่ห์เส้นทางผ้าเพชรบูรณ์

สืบสานและต่อยอด
สู่ความภูมิใจของชุมชน

นอกจากจะรื้อฟื้นลวดลายไปจนถึงขั้นตอนการทอตามแบบฉบับไทหล่มขนานแท้แล้ว ป้าทองยุ่นและชาวบ้านนำโดย ศุภชัย เทียนทอง ประธานหมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านห้วยโปร่ง ยังร่วมกันต่อยอดเครื่องแต่งกายไทหล่มให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ โดยการคิดสีเสื้อประจำชุมชน ซึ่งมีด้วยกัน ๓ สี คือ “สีขาว / ครีม” หมายถึง ต้นจำปาพันปี “สีอิฐ” หมายถึง ความเข้มแข็งของพ่อขุนผาเมือง “สีลูกหหว้าสุกหรือสีบานเย็น” หมายถึงสีของแม่สิงขรเทวีในนิมิตรของเจ้าอาวาสวัดโพนชัย

แต่ละสีที่กล่าวไปข้างต้น ล้วนยึดโยงกับสถานที่ ปูมเมืองและประวัติศาสตรที่สำคัญของชุมชน สีขาวสื่อถึง ต้นจำปาพันปี มาจากเรื่องเล่าว่าปลูกเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๗๘๕ โดยพ่อขุนผาเมืองและพระนางสิงขรเทวี ส่วนสีอิฐ ก็เพื่อระลึกถึง พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด (ปัจจุบันคือพื้นที่ตำบลบ้านหวาย) ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย

ซิ่นหัวแดงตีนก่าน

 

ซิ่นหัวแดงตีนก่าน

สีลูกหว้าสุกหรือบานเย็น มาจากสีอาภรณ์ของพระนางสิงขรเทวี พระมเหสีของพ่อขุนผาเมือง ที่เจ้าอาวาสวัดโพนชัยได้นิมิตเห็นและนำมาบอกเล่ากับชาวบ้าน จากความเชื่อ ความศรัทธา นำมาก่อร่างสร้างตัวตนของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม สิ่งนี้ยังทำให้ชาวบ้านเข้าใจและเข้าถึงวัฒนธรรมของท้องถิ่น ทั้งยังได้เป็นส่วนในการอนุรักษ์ไปโดยปริยาย

หากมีงานประจำปีของชุมชนและจังหวัด หรืองานบุญใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น งานสรงน้ำพระธาตุ งานเส็งกลองล่องโคมไฟ งานบวงสรวงอนุสรณ์สถานพ่อขุนผาเมือง ชาวบ้านห้วยโปร่งก็จะพร้อมใจกันแต่งกายด้วยซิ่นหัวแดงตีนก่าน เบี่ยงผ้าแพรไส้ปลาไหล และสวมเสื้อแขนกระบอกสีประจำของชุมชน

ซิ่นหัวแดงตีนก่าน

ซิ่นหัวแดงตีนก่าน
ชาวบ้านหลายคนบอกว่า สิ่งนี้เป็นการโฆษณาชุมชนไปในตัว โดยไม่จำเป็นต้องจ้างออแกไนซ์แพงๆ ให้เสียเปล่า มิหนำซ้ำยังต่อยอดให้คนเข้ามาเยี่ยมชมหมู่บ้าน ไปจนถึงเรียนรู้การทอผ้าซิ่นหัวแดงตีนก่าน ซึ่งชุมชนเองก็มีแผนรองรับนักท่องเที่ยวผู้หลงใหลในงานผ้า ด้วยการจัดโฮมสเตย์รองรับจำนวน ๓ หลัง มีทั้งแบบพักกับเจ้าของบ้าน และแบบแยกเป็นสัดส่วนให้เลือกสรร ในราคาเพียง ๓๐๐ บาท (ข้อมูล : มกราคม ๒๕๖๓)

รวมอาหารมื้อเย็นและเช้าให้รับประทานสไตล์ญาติมิตร แต่ขอแอบกระซิบไว้ก่อนว่า เมนูเด็ดที่พลาดไม่ได้คือ “แกงหวาย” ลักษณะคล้ายแกงหน่อไม้ใบย่านาง หอมกลิ่นปลาร้าของภาคอีสาน แม้จะมีรสขมนิดๆ แต่ก็กลบได้ด้วยไมตรีจิตจากเจ้าของบ้าน

ซิ่นหัวแดงตีนก่าน

 

ซิ่นหัวแดงตีนก่าน
มาวันนี้ “ซิ่นหัวแดงตีนก่าน” ไม่ได้เป็นแค่เพียงเครื่องนุ่งห่มที่บ่งชี้ชาติพันธุ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากยังกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่สำคัญระดับจังหวัด สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างการท่องเที่ยวให้เกิดในชุมชน และยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่จะอยู่คู่กับชาวไทหล่มไปอีกนาน

ซิ่นหัวแดงตีนก่าน

     
  • หลักฐานยืนยันการมีอยู่ของซิ่นหัวแดงตีนก่าน ปรากฏที่จิตรกรรมฝาผนังวัดศรีมงคล (วัดบ้านนาทราย) ในอำเภอหล่มเก่า บอกเล่าวิถีผู้คนที่ผูกพันกับพุทธศาสนาและค่านิยมในการนุ่งซิ่นของสตรีสมัยโบราณ
  • ศึกษาประวัติความเป็นมาของเมืองหล่มสักให้ครบทุกแง่มุมได้ที่ “พิพิธภัณฑ์หล่มศักดิ์” เข้าชมฟรี เปิดให้บริการ วันอังคาร – ศุกร์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. วันเสาร์ เวลา ๑๗.๐๐ – ๒๑.๐๐ น. ปิดทุกวันอาทิตย์และวันนักขัตฤกษ์
  • เลือกซื้อซิ่นหัวแดงตีนก่านหรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอื่นๆ ได้ที่ “ถนนคนเดินไทหล่ม” ทุกวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ – ๒๒.๐๐ น.
  • อย่าลืมแวะนมัสการรูปปั้นพ่อขุนผาเมือง ที่อนุสรณ์สถานเมืองราดพ่อขุนผาเมือง บ้านห้วยโปร่ง เพื่อความเป็นสิริมงคล
  • เที่ยวชุมชนบ้านห้วยโปร่ง ติดต่อ
    อบต.บ้านหวาย ๐๕๖ ๗๐๔ ๕๙๔
    พี่น้อย ศุภชัย เทียนทอง ๐๘ ๑๗๕๑ ๙๑๐๙
    กลุ่มทอผ้าไทหล่มบ้านหวาย ๐๘ ๙๕๙๑ ๖๕๖๖
  • จากบ้านห้วยโปร่ง ขึ้นเขาตามเส้นทางหมายเลข ๑๒ มุ่งหน้าพิษณุโลก ประมาณ ๔๗ กิโลเมตร แวุุะชุมชนม้งบ้านเข็กน้อย ชมวิธีทำผ้าเขียนเทียน ผ้าปักที่ละเอียดงดงาม คลิกอ่านเรื่องราวเส้นทางผ้าเพชรบูรณ์ได้ที่ กราฟิกบนผืนผ้า อัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ม้งบ้านเข็กน้อย

เรื่อง : อรอุมา ศิลป์วัฒนานุกูล ภาพ : ธนิสร หลักชัย

artoftraveler.com