วิถีคนกับช้าง ที่บ้านตากลาง

บวชนาคช้างบ้านตากลาง

“ บรรพบุรุษชาวกวยของเรา ต้องนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายให้แก่พระเจ้าแผ่นดิน คนเลยเรียกเราว่าพวกส่งส่วยหรือพวกส่วยกันจนติดปาก กวยไม่ใช่ส่วย กวยกับเขมรพูดคนละภาษา แต่สำเนียงจะคล้าย ๆ กัน คนที่ไม่รู้เลยชอบคิดว่า เป็นกลุ่มเดียวกัน”

ลูกหลานชาวกวยบ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ บอกถึงที่มาของคำซึ่งฝังจำตั้งแต่เก่าก่อน จนถูกคนเข้าใจผิดมาถึงปัจจุบัน

เที่ยวบ้านตากลาง

“กวย” แปลตามภาษาของชาติพันธุ์หมายถึงมนุษย์หรือคน บ้างก็ถูกเรียกว่าเขมรป่าดง ด้วยเคยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มคนที่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการต่อกษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักร จึงมักถูกเรียกว่าพวก “ส่วย” มีพงศาวดารกล่าวถึงชาวกวยได้ช่วยคล้องช้างเผือกที่แตกหนีจากโรงช้างหลวงกรุงศรีอยุธยา ข้ามดงพญาไฟเดินเลียบลำน้ำมูลจนเข้าเขตพงไพรที่ชาวกวยอยู่อาศัย ความดีความชอบครั้งนั้นเชียงปุ่มหัวหน้าชุมชนจึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสุรินทร์ภักดี รับใช้และร่วมศึกสงครามกับทัพหลวง ตั้งแต่ปลายอยุธยามาธนบุรีล่วงถึงรัตนโกสินทร์ และได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง เจ้าเมืองสุรินทร์คนแรกในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี

บ้านตากลาง

บ้านตากลางเชื่อว่าน่าจะก่อตั้งเป็นชุมชนมาตั้งแต่ช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเช่นกัน บรรพบุรุษของพวกเขา เสาะหาที่อยู่จนได้ชัยภูมิเหมาะสม น้ำท่าพืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์มีช้างชุกชุม การคล้องช้างได้รับการช่วยเหลือแนะนำจากตากัง คนพื้นถิ่นดั้งเดิมซึ่งชำนาญด้านนี้เช่นเดียวกัน เมื่อลงหลักปักฐานเป็นชุมชนถาวรจึงตั้งชื่อว่าบ้านตากัง ภายหลังจึงเพี้ยนเป็นบ้านตากลาง

บ้านตากลาง

เที่ยวบ้านคนเลี้ยงช้าง

“ปัจจุบันไม่มีการจับช้างแต่ยังคงเลี้ยงช้าง เหมือนเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว”

บ้านตากลางถูกพัฒนาหมู่บ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิต บ้านเกือบทุกหลังมีโรงเรือนหลังคาสูงไว้สำหรับให้ช้างอาศัย ชาวกวยเชี่ยวชาญในการโพนช้างหรือจับช้างป่านำมาฝึกเพื่อใช้งาน ผู้ที่จะร่วมออกไปคล้องช้างต้องผ่านพิธีปะชิหรือแต่งตั้งโดยครูบาใหญ่ การจัดลำดับชั้นของหมอช้างวัดจากจำนวนช้างที่จับได้เป็นสำคัญ เริ่มจาก มะหรือจา หมอสะเดียง หมอสะดำ ครูบาและครูบาใหญ่ ซึ่งอยู่ลำดับสูงสุดมีอำนาจในการตัดสินใจทุกอย่าง

บวชนาคช้างบ้านตากลาง

“ลำดับชั้นของหมอช้างสังเกตง่าย ๆ จากชนักหรือสร้อยคอ ระดับครูบาจะเป็นสีทอง แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ไล่ลงมาจะเป็นเงิน ทองเหลือง จนมาถึงหมอจาจะเป็นทองแดง ที่เอวคาดผ้าห่อเครื่องรางของขลัง ทั้งเครื่องรางจากสัตว์เครื่องรางจากพืชเรียกว่า กระไทครู บางคนอาจมีรากไม้หรือกิ่งไม้ที่พันกันจนแน่นตามธรรมชาติ เรียกว่า มหาสวัก ซึ่งเชื่อว่ามีฤทธิ์ในตัวห้อยอยู่ด้วย การแต่งกายจะนุ่งเพียง ผ้ากะเนว ทอจากไหมไม่สวมเสื้อ”

บวชนาคช้างสุรินทร์

ประดิษฐ์ ศาลางาม สมาชิกชุมชนท่องเที่ยวบ้านช้างตากลาง เล่าถึงลำดับชั้นของหมอช้าง ต่อด้วยเรื่องเชือกปะกำบ่วงบาศสำหรับคล้องขาเพื่อจับช้าง ฟั่นจากหนังควายตากแห้ง ต้องใช้หนังควาย ๓ ตัวต่อเชือกปะกำหนึ่งเส้น อาจเป็นตัวเมียสองตัวผู้หนึ่ง หรือตัวผู้สองตัวเมียหนึ่ง ห้ามใช้เฉพาะตัวผู้หรือตัวเมียอย่างเดียว ชาวกวยเชื่อว่าวิญญาณบรรพบุรุษหรือผีปะกำจะมาสิงสถิตอยู่ในเชือก ห้ามผู้หญิงจับหรือสัมผัสโดยเด็ดขาด ต้องมีศาลปะกำเพื่อเก็บรักษา ประกอบพิธีต่าง ๆ ใช้กระดูกคางไก่ต้มที่นำมาเป็นเครื่องเซ่นในแทบทุกพิธีกรรมเป็นเครื่องเสี่ยงทาย หากกระดูกโค้งสวยงามหมายถึงสิ่งนั้นจะสำเร็จ แต่ถ้าบิดงอผิดรูปจะพบอุปสรรคควรงดหรือพักไว้ก่อน

บวชนาคช้างบ้านตากลาง


“ตะขอช้างอุปกรณ์ที่ควาญใช้ควบคุมช้าง ส่วนด้ามใช้กิ่งไม้ที่ถูกเถาวัลย์พันจนแน่น เมื่อแกะเถาวัลย์ออกจะมีลักษณะเป็นเกลียวโดยธรรมชาติช่วยให้จับถนัดมือ ส่วนมากจะพันวนขวาหากเจอกิ่งไหนพันวนซ้ายถือว่าดีเยี่ยมแต่พบน้อยมาก นำไม้มาขัดแล้วนำตัวตะขอที่ตีจากเหล็กลงอักขระมาประกอบเข้าด้วยกัน “

สีรา สุขศรี ช่างทำตะขอมากประสบการณ์เล่าให้ฟังระหว่างลงมือขัดไม้ที่เห็นเป็นร่องเกลียวชัดเจน งานยากอยู่ที่การหาไม้ ใช่ว่าจะพบทุกครั้ง บางคราวก็คว้าน้ำเหลวกลับบ้าน นักสะสมที่ไม่ใช่กลุ่มคนเลี้ยช้าง นิยมนำไปตั้งไว้ในบ้าน ด้วยความเชื่อว่าช่วยให้ทำการใดก็สำเร็จ ขอสิ่งใดก็สมดั่งใจสมปรารถนา

เที่ยวบ้านช้างตากลาง

ตะขอช้างหรือคชกุศ เป็น ๑ ใน ๘ สิ่งมงคลตามคติพราหมณ์ เชื่อว่าช่วยขจัดภัยและอุปสรรค เสริมอำนาจบารมีเป็นมหามงคล รวมถึงขนหางช้างซึ่งถือเป็น “ทนสิทธิ์” หมายถึงของที่มีฤทธิ์ในตัวไม่ต้องปลุกเสก การจะได้มาต้องทำพิธีตัดอย่างถูกต้องมีทั้งสีขาวขุ่นและสีดำ ลักษณะคล้ายเอ็นแข็ง ๆ ชาวกวยนิยมพกติดตัว ป้องกันคุณไสยภูตผีปีศาจร้าย ที่บ้านตากลางได้นำมาถักเป็นแหวนและกำไล รวมถึงทำตะขอช้างขนาดเล็ก ไว้จำหน่ายให้นักท่องเที่ยวที่สนใจ

บวชนาคช้างบ้านตากลาง
บวชนาคช้างบ้านตากลาง


มูลช้างยังถูกนำมากแปรรูปเป็นกระดาษ ซึ่งมีฐานการเรียนรู้อยู่ภายในหมู่บ้าน หากสนใจงานศิลปะ มีภาพวาดจากศิลปินท้องถิ่นให้ชมและซื้อกลับไปสะสม สัมผัสความน่ารักของช้างที่ศูนย์คชศึกษา ซึ่งมีการแสดงต่าง ๆ ทุกวัน และกำลังดำเนินการก่อสร้างโครงการ SURIN ELEPHANT WORLD เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ที่สามารถศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวกวยและช้าง เป็นการจัดพื้นที่ในการนำช้างกลับบ้านเกิดอย่างถาวร ไม่ต้องออกไปเดินเร่ร่อนในเมืองใหญ่อีกต่อไป

ท่องเที่ยวบ้านตากลาง

บวชนาคช้าง วิถีธรรม วิถีถิ่น

แม้จะให้ความสำคัญต่อการเซ่นไหว้ผีปะกำและวิญญาณบรรพบุรุษ แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งแนวทางพุทธศาสนา ชายหนุ่มชาวกวยจะเข้าพิธีอุปสมบทให้พ่อแม่เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ เช่นเดียวกับพุทธศาสนิกชนในภูมิภาคอื่น เพียงการแต่งกายและพิธีกรรมบางอย่างอาจต่างไป ขาดไม่ได้คือช้าง สมาชิกของครอบครัวซึ่งเข้ามามีส่วนร่วมต่อผลบุญนี้

เที่ยวบ้านตากลาง

“ประเพณีบวชนาคช้าง ไม่ใช่นำช้างมาบวช แต่ใช้ช้างเป็นพาหนะให้นาคผู้เตรียมเข้าพิธีอุปสมบทได้นั่งเวลาไปไหนมาไหน บางทีก็เรียกขี่ช้างแห่นาค โดยจะทำพิธีบวชในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา วันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน การบวชในวันนี้เปรียบเหมือนการเดินเข้าสู่ทางธรรมได้พบพระองค์ตามความเชื่อ”

บวชนาคช้างสุรินทร์

งานถูกกำหนดไว้ ๓ วัน วันแรกคือวันโฮม เพื่อขอขมาพ่อแม่ก่อนทำพิธีโกนผม ที่วัดแจ้งสว่างศูนย์กลางของชุมชน และพิธีบายศรีสู่ขวัญใหญ่ให้นาคที่จะเข้าบวชทั้งหมด ส่วนพิธีบายศรีสู่ขวัญเล็กจะกลับไปทำที่บ้านใครบ้านมัน ชุดและเครื่องประกอบที่นาคสวมล้วนแทรกคติคำสอน ยอดแหลมของกระโจมหรือชฎานาค เปรียบเหมือนสมองอันหลักแหลม กระดาษสีแทนแสงสีทางโลกที่ไม่ควรไปหลงระเริง อย่าเป็นคนหูเบาเหมือนนุ่นที่ห้อยแทนต่างหู ผ้าคลุมหลากสีแทนรุ้งเจ็ดสีดุจผู้มีบุญวาสนา เสื้อสีขาวหมายถึงผู้ไม่ข้องเกี่ยวในที่มืด เครื่องประดับต่าง ๆ ล้วนเป็นทรัพย์สินทางโลก ต้องสละทิ้งเมื่อนุ่งห่มผ้าเหลือง

เที่ยวบ้านตากลาง


วันที่สอง หลังทำบุญถวายเพลที่วัดเรียบร้อย ทั้งหมดจะเดินทางไปบวงสรวงศาลปะกำ บริเวณศูนย์คชศึกษา แล้วเคลื่อนขบวนแห่นาคช้างไปที่ศาลปู่ตาวังทะลุ จุดบรรจบของแม่น้ำชีและมูล เพื่อบอกกล่าวขอขมาตามธรรมเนียมปฏิบัติ สมัยที่ยังไม่มีอุโบสถหรือสิม สงฆ์ได้ผูกสีมาบริเวณดอนทรายชายน้ำ เป็นสถานที่ประกอบสังฆกรรมตามพระธรรมวินัย ซึ่งพระพุทธองค์ทรงกำหนดให้ใช้ธรรมชาติ ๘ ประการคือ ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำและน้ำนิ่ง เป็น “นิมิต” หรือเครื่องหมายบอกเขตแดน (สีมา) ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ดอนบวช” ส่วนวันสุดท้ายนาคจะเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดแจ้งสว่าง เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการบวชนาคช้าง

บวชนาคช้างบ้านตากลาง

คติความเชื่อที่ยังยึดโยงกับวิญญาณบรรพบุรุษและโลกอีกมิติ ทำให้คนภายนอกมองว่าชาวกวยเป็นพวกนิยมคาถาอาคมหรือศาสตร์ด้านมืด หากความจริงล้วนเป็นอุบายสอนสั่งที่หยิบยกมาจากพุทธศาสนา ให้กตัญญูรู้คุณ เคารพพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ไม่หลงลืมบรรพบุรุษรากแก้วที่หยั่งลึกสร้างชุมชนให้เติบโตมั่นคงดั่งต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงถึงปัจจุบัน จงรักและดูแลช้างเสมือนหนึ่งชีวิตในครอบครัวอย่าทอดทิ้งให้เขาตกระกำลำบาก

ชุมชนท่องเที่ยวบ้านช้างตากลาง
ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์
โทร.๐๖ ๓๐๕๗ ๙๓๓๔ (คุณทิพย์ธัญญา)
โทร.๐๘ ๔๘๓๒ ๔๓๖๙ (คุณสีรา)

เรื่อง/ภาพ ธนิสร หลักชัย

artoftraveler.com