กรุงเทพฯ เดินเที่ยว… จากวัดอรุณฯถึงท่าดินแดง

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร กำลังบูรณะเรียกว่า "วัดอรุณฯ เข้าเฝือก"
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร กำลังบูรณะเรียกว่า “วัดอรุณฯ เข้าเฝือก”
เราเริ่มออกเดินจากวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ซึ่งกำลังบูรณะองค์พระปรางค์ สมัยก่อนจะใช้นั่งร้านไม้ไผ่มัดด้วยตอก แต่ยุคนี้ใช้ท่อเหล็ก มีหมุดยึด แข็งแรงแน่นหนา ให้ช่างขึ้นไปทำงานได้สะดวกปลอดภัย เรียกว่า วัดอรุณฯ กำลังเข้าเฝือก
… มาตามถนนวังเดิม ข้ามสะพานอนุทินสวัสดิ์ตรงมัสยิดต้นส้น ผ่านวัดกัลยาณมิตร เดินเลียบแม่น้ำมาจนถึงศาลเจ้าเล็ก ๆ บุคลิกเงียบขรึมริมฝั่งเจ้าพระยา หลายคนอาจคุ้นตาเพราะเป็นฉากในละครเลือดมังกร เสือ สิงห์ กระทิง แรด หงส์ ที่ลาจอไปสักพักใหญ่ ๆ

คลองบางกอกใหญ่ หรือ คลองบางหลวง ... ถ่ายจากสะพานอนุทินสวัสดิ์
คลองบางกอกใหญ่ หรือ คลองบางหลวง … ถ่ายจากสะพานอนุทินสวัสดิ์
“เกียน … หมายถึงชาวฮกเกี้ยน เพราะทีนี่เป็นศาลเจ้าของบรรพบุรุษของชาวฮกเกี้ยน
อัน … คือความสงบสุขความร่มเย็น
เกง… หมายถึง ตัวอาคารหรือศาสนสถาน
เกียนอันเกง จึงหมายถึง ศาลเจ้าของชาวฮกเกี้ยน ซึ่งให้ความสงบสุขและความร่มเย็นแก่คนที่เข้ามากราบไหว้”

คุณบุณยนิธย์ สิมะเสถียร ลูกหลานตระกูลสิมะเสถียร ซึ่งรับหน้าที่บริหารดูแลศาลเจ้า เนื่องจากบรรพบุรุษของตระกูลตันติเวชกุลและสิมะเสถียร เป็นผู้สร้าง บอกกับเรา

ศาลเจ้าเกียนอังเกง
ศาลเจ้าเกียนอังเกง
ก่อนกระแสน้ำเจ้าพระยาจะเปลี่ยนทาง หลังการขุดคลองลัดบางกอก จากปากคลองบางกอกน้อยตรงสถานีรถไฟธนบุรี มาบรรจบกับคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) ตรงป้อมวิไชยประสิทธิ์ ซึ่งเดิมชื่อ ป้อมวิไชยเยนทร์ … เรือทุกลำที่แล่นเข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมีทั้งชาวจีน โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ จะต้องจอดเทียบท่าหน้าป้อม เพื่อให้ทางการตรวจตราสินค้า ป้องกันการนำสิ่งของต้องห้ามผ่านเข้าไปถึงกรุงศรีอยุธยา สำเภาลำใหญ่บรรทุกสินค้าเต็มลำ การตรวจแต่ละครั้งจึงใช้เวลาหลายวัน ลูกเรือชาวจีนมักพากันขึ้นพักค้างแรมบนฝั่ง คตินิยมและความเชื่อของคนจีนมักจะสร้างศาสนสถานบริเวณที่ขึ้นฝั่ง ก็เลยสร้างกะดีหรือกุฏิ ให้ภิกษุที่โดยสารมากับเรือได้ใช้เป็นสถานที่พำนัก จึงเรียกย่านนี้ว่า กะดีจีนหรือกุฎีจีน

ศาลเจ้าเกียนอันเกง
ศาลเจ้าเกียนอันเกง
บรรยากาศของศาลเจ้าเกียนอันเก็งค่อนข้างเงียบสงบ ไม่ดำเนินการใด ๆ ในเชิงพาณิชย์เหมือนอีกหลาย ๆ แห่ง ตามประวัติเล่าไว้ว่า ในสมัยกรุงธนบุรี เดิมที่ตรงนี้มีศาลเจ้าพ่อกวนอู และ ศาลเจ้าพ่อโจวซือกง อยู่คู่กัน แต่ถูกทิ้งร้างเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงย้ายเมืองหลวงไปอยู่ฝั่งพระนคร กระทั่งบรรพบุรุษของตระกูลตันติเวชกุลและสิมะเสถียร แล่นเรือมาจากมณฑลฮกเกี้ยน เห็นสภาพทรุดโทรมเกินซ่อมแซม จึงได้รื้อศาลเจ้าทั้งสองลงแล้วสร้าง “ศาลเจ้าเกียนอันเก็ง” แห่งนี้ขึ้นมา

องค์โพธิสัตว์กวนอิม องค์ประธานภายในศาลเจ้าเกียนอันเกง
องค์โพธิสัตว์กวนอิม องค์ประธานภายในศาลเจ้าเกียนอันเกง
“องค์โพธิสัตว์กวนอิน ซึ่งเป็นองค์ประธาน แกะสลักจากไม้ ปิดทอง ซึ่งเข้าใจว่าต้องเป็นไม้หอม อาจเป็นไม้จันทน์หรือไม้กฤษณา ท่านอยู่ในปางสมาธิ ปิดทองหุ้มทั้งองค์ อาจจะแตกต่างกับปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่จะพบแต่ปางที่ท่านนิรมาณกายเป็นหญิง แต่จริง ๆ ท่านเป็นชาย นุ่งห่มเหมือนพระจีนที่เราเคยเห็นทั่วไป บางตำราว่า ท่านได้ปวารณไม่ขอบรรลุสัมโพธิญาณเหมือนพระพุทธเจ้า ขออยู่ในภูมิธรรมชั้นพระโพธิสัตว์ สามารถนิรมาณกายเป็นอะไรก็ได้ ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ช้าง ม้า ฯลฯ เพื่อจะได้เข้าไปใกล้ชิดผู้ตกทุกข์ได้ยาก ซึ่งได้บนบานร้องขอความช่วยเหลือ”

คุณบุณยนิธย์ อธิบายให้ฟัง แม้บางคนจะเคยมาที่นี่ หรือค้นคว้าหาอ่านประวัติมาเป็นเบื้องต้น แต่รายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้เรากลับไม่เคยรู้ อีกทั้งยังอนุญาตให้ถ่ายรูปภายในได้เป็นกรณีพิเศษ ทำการมาครั้งนี้สนุกเพลิดเพลินอย่างมาก

เจ้าแม่ทับทิม ภายในศาลเจ้าเกียนอันเกง
เจ้าแม่ทับทิม ภายในศาลเจ้าเกียนอันเกง
ด้านขวาขององค์ประธาน เป็นรูปเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งการเดินเรือ ก่อนแล่นเรือออกเดินทาง ชาวจีนมักกราบไหว้และอันเชิญท่านมาด้วย ทอดสมอจอดเรือที่ไหน มักจะสร้างศาลของท่านไว้ที่นั่น จึงพบว่ามีศาลเจ้าแม่ทับทิมมากกว่าศาลเจ้าแม่กวนอิม สำหรับเจ้าแม่ทับทิมที่นี่มี 2 องค์ จึงอันเชิญท่านประทับอยู่คู่กัน … ส่วนด้านซ้ายองค์ประธานจะเป็นองค์กวนอู เทพเจ้าความซื่อสัตย์

พระองค์เล็ก ๆ ชิดผนังสองฝั่ง ในลักษณะที่แตกต่างกัน เรียกว่า “18 อรหันต์” มีความหมายทั้งดีและไม่ดี ในอดีตจะใช้เพื่อทำนายอนาคต โดยนับตามอายุ ผู้หญิงเริ่มนับจากทางซ้าย ผู้ชายขวา ไล่เวียนไปเรื่อย ๆ จนครบอายุของตน ไปตกที่องค์ไหนก็จะทำนายจากลักษณะของพระองค์นั้น

เทพกวนอู และ 18 อรหันต์ ภายในศาลเจ้าเกียนอันเกง
เทพกวนอู และ 18 อรหันต์ ภายในศาลเจ้าเกียนอันเกง
ผนังด้านข้าง 2 ด้าน เป็นภาพวาดวรรณกรรมเรื่องสามก๊ก … คุณบุณยนิธย์บอกว่า จากการตรวจสอบคาดว่าน่าจะเป็นฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) วาดเป็นตอน ๆ ลงในช่องสี่เหลี่ยม เริ่มจากตอนแรก “สาบานในสวนดอกท้อ” เมื่อจบก็ไปต่อผนังอีกฝั่ง ช่องที่สามและสี่ก่อนจบเรื่อง จะเป็นตอน โจโฉแตกทัพเรือ ซึ่งนิยมเอาไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ภาพวาดสามก๊กเป็นคตินิยมของชาวฮกเกี้ยน หากเรามีโอกาสไปศาลเจ้าของชาวฮกเกี้ยน จะพบภาพวาดเรื่องสามก๊กอยู่เกือบทุกที่ ในกรุงเทพฯ จะพบที่นี่กับวัดประเสริฐสุทธาวาส วัดประจำตระกูลเศรษฐบุตร ซึ่งเป็นชาวฮกเกี้ยนเช่นเดียวกัน แต่เป็นจิตรกรรมฝาผนังที่วาดในพระอุโบสถของวัด ภาพจะใหญ่ รายละเอียดก็แตกต่างกันไปตามความสามารถและความถนัดของช่างที่วาด

ภาพวาดวรรณกรรมสามก๊ก ภายในศาลเจ้าเกียนอันเกง
ภาพวาดวรรณกรรมสามก๊ก ภายในศาลเจ้าเกียนอันเกง
“รูปวาดบางจุดจะถูกเขม่าจากควันธูปเกาะทับ เพราะการไหว้ของคนจีน เทพแต่ละองค์ก็จะมีกระถางธูปประจำตัว ตอนหลังเราค่อย ๆ ลดเหลือเพียงสองกระถางด้านหน้า การเปิดไฟในภายในศาลก็จะทำเฉพาะช่วงที่มีเทศกาลงานสำคัญ เพราะอุณหภูมิความร้อนจากแสงไฟจะทำให้ภาพวาดเสียหายได้ ส่วนหอด้านใน เป็นหอพระพุทธรูป ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นส่วนใหญ่”

ภาพแกะสลักบนคาน เรื่องราวเกี่ยวกับวรรณกรรมสามก๊ก
ภาพแกะสลักบนคาน เรื่องราวเกี่ยวกับวรรณกรรมสามก๊ก
ตัวศาลเจ้าเป็นศิลปะแบบที่ชาวฮกเกี้ยนนิยม … บรรพบุรุษที่มาจากเมืองเจียงจิวและโจวจิว ซึ่งมีฝีมือและความสามารถเรื่องแกะสลักไม้ ตัวอาคารศาลเจ้าตั้งแต่หน้าประตูถึงโถงด้านใน จึงงดงามด้วยลวดลายลายแกะสลัก ส่วนใหญ่เป็นรูปดอกไม้และสัตว์ที่เป็นมงคลกับศาลเจ้า … บนคานแกะเป็นเรื่องสามก๊ก ตัวละครอย่าง ขงเบ้ง กวนอู ฯลฯ ก็จะอยู่ในลวดลายบนคานไม้นี้ด้วย เป็นการแกะสลักมาจากเมืองจีนแล้วขนลงเรือมาประกอบที่นี่ ผนังด้านในข้างประตู เป็นภาพท้าวจตุโลกบาล ทำหน้าที่ดูแลทิศและฤดูทั้งสี่

ช่องระบายอากาศและภาพปูนปั้น ด้านหน้าศาลเจ้าเกียนอันเกง
ช่องระบายอากาศและภาพปูนปั้น ด้านหน้าศาลเจ้าเกียนอันเกง
“ช่องระบายอากาศ ยังมีความหมายอยู่ในตัว ทั้งช่องสี่เหลี่ยมและวงกลม หากเพ่งรายละเอียดดี ๆ จะเป็นรูปมังกรทูนโต๊ะบูชา มังกร หมายถึงพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ ทูนโต๊ะบูชาองค์โพธิสัตว์กวนอิน ซึ่งเป็นองค์ประธานของศาลเจ้า ความหมายคือ พลังอำนาจยิ่งใหญ่ของการบูชา”

รูปสิงโตแกะสลัก ด้านหน้าศาลเจ้าเกียนอันเกง
รูปสิงโตแกะสลัก ด้านหน้าศาลเจ้าเกียนอันเกง
ป้ายศาลเจ้า แกะเป็นมังกรล้อมรอบตัวอักษร ถัดจากป้ายลงมาเป็นสิงโต นอกจากตัวใหญ่ยังมีตัวเล็กซึ่งอาจจะเป็นลูกซ่อนอยู่ บนตัวสิงโตยังมีเทพประทับอยู่ด้วย จึงต้องค่อย ๆ พินิจพิจารณาอย่างช้า ๆ ส่วนงานปูนปั้น ยังมีที่สมบูรณ์และชำรุดไปบ้าง

การไม่ทำลายของเดิม ไม่เพิ่มของใหม่ ทำให้ศาลเจ้าเกียนอันเก็ง ยังคงรักษาความสวยงามทรงคุณค่า สืบมาถึงปัจจุบัน แต่จะมีปัญหาเรื่องความชื้นเพราะอยู่ติดแม่น้ำ ละอองฝนที่หล่นมาทางช่องระบายอากาศ รวมถึงมูลค้างคาวที่อาศัยอยู่ภายในศาลมานานแสนนาน เพราะชาวจีนถือว่าค้างคาวเป็นสัตว์มงคล ห้ามไล่ห้ามทำร้าย

บ้านวินด์เซอร์
บ้านวินด์เซอร์
จากศาลเจ้าตามทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนถึงวัดซางตาครู้ส จะผ่านบ้านไม้เก่าแลดูทรุดโทรมหลังหนึ่งคือ “บ้านวินด์เซอร์” เรือนไม้โบราณประดับลวดลายไม้ฉลุที่เรียกว่า “เรือนขนมปังขิง” เดิมมี 2 หลัง แต่บ้านที่เป็นตึกปูนอีกหลังทรุดตัวและไหลลงแม่น้ำไปเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน… เจ้าของคือ นางสมบุญ วินด์เซอร์ ลูกสะใภ้ของ กาเนียร วินด์เซอร์ กัปตันเรือชาวอังกฤษ ผุ้ก่อตั้งกิจการห้างวินด์เซอร์ ที่ ถ.เจริญกรุง

วัดซางตาครู้ส
วัดซางตาครู้ส
เราแวะวัดซางตาครู้ส เดินเข้าชุมชนกุฎีจีน ชมเรือนจันทนภาพ เรือนไม้เก่าอายุเกินร้อยปี ก่อนชุมชนเติบโตอย่างปัจจุบัน สมัยก่อนสามารถนั่งมองแม่น้ำเจ้าพระยาได้จากริมหน้าต่างและบนระเบียง เลยได้รับลูกหลงจากปืนกลคราวเกิดกบฏแมนฮัตตัน เมื่อปี พ.ศ.2494 ลูกหลานยังเก็บร่องรอยไว้ให้ระลึกถึง หน้าบ้านเป็นร้านทำขนมฝรั่งกุฎีจีนธนูสิงห์และร้านกาแฟเล็ก ๆ เลยถือโอกาสนั่งคุยแล้วพักเบรกไปในคราวเดียว

เรือนจันทนภาพ
เรือนจันทนภาพ
จากหน้าวัดซางตาครู้สมาตาม ถ.เทศบาล สาย 1 อีกไม่เกิน 100 ม. ก็จะถึงวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของฝั่งธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิส บุนนาค) ได้อุทิศสวนกาแฟเพื่อสร้างวัดแห่งนี้ คนสมัยก่อนนิยมเรียกว่า วัดรั้วเหล็ก เนื่องจากสมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้สั่งรั้วเหล็กทำเป็นรูปหอก ดาบ ขวาน มาจากประเทศอังกฤษ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่พระองค์ไม่ทรงโปรด จึงขอพระราชทานมาล้อมเป็นกำแพงในวัด โดยใช้น้ำตาลหนักเท่าน้ำหนักของเหล็กแลกมา

พระบรมธาตุเจดีย์ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
พระบรมธาตุเจดีย์ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
นอกจากพระบรมธาตุเจดีย์ เจดีย์ที่มีแกนกลางแบบอยุธยา มีอุโมงค์ให้คนเข้าไปได้ ซึ่งได้รับรางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมฯ จากยูเนสโก วิหารพระพุทธนาคศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ ยังมีสิ่งสำคัญที่ไม่ควรพลาดคือ “เขามอ” แรกเริ่มเดิมที สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ได้สร้างขึ้นโดยใช้เค้าโครงจากหยดเทียนขี้ผึ้ง ซึ่งหยดทับถมกันเป็นเวลานาน ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจุดขณะประทับอยู่ในห้องสรง ภายหลังมีผู้นำเต่าและตะพาบน้ำมาปล่อยภายชาวบ้านเลยเหมาเรียกว่า เขาเต่า ต่อมามีการบูรณะโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

เขามอ ... วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
เขามอ … วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
“ตอนบูรณะเขามอครั้งแรก เราไม่รู้ ก็เลยทำแบบไม่ถูกหลักความเชื่อ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเสด็จฯ ในพิธีเปิด ทรงพระราชทานข้อแนะนำเกี่ยวกับการสร้างว่า เขามอคืออะไร แฝงคติความเชื่ออย่างไร ทำให้เราได้รู้ว่า บนสุดของยอดเขาพระสุเมรุคือเจดีย์จุฬามณี รองลงมาเป็นที่อยู่ของพระอิศวรคือปราสาทไพรชยนต์ ถัดลงมาก็เป็นที่อยู่ของเทวดานางฟ้าทั้งหลาย น้ำล้อมรอบคือมหานทีสีทันดร ซึ่งกว้างใหญ่ไพศาล ไม่มีสิ่งมีชีวิตใด ๆ จะข้ามผ่านได้ นอกจากนกหัสดีลิงค์เท่านั้น เว้นแต่ผู้ที่บำเพ็ญคุณความดี ละชั่วกลัวบาป เขามอจึงแฝงคติธรรมให้คนประกอบคุณความดี จึงจะสามารถผ่านมหานทีสีทันดร ไปอยู่ในที่สวยงามของเหล่าทวยเทพได้ เลยต้องรื้อแล้วแก้ไขใหม่ให้ถูกต้อง ” พระพิศิษฏ์วิหารการ เจ้าคณะ 3 บอกเล่าเรื่องเขามอให้เราฟัง

สะพานพระพุทธยอดฟ้า มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์"
สะพานพระพุทธยอดฟ้า มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์”
อิ่มความรู้จากวัดประยุรฯ เราเดินลอดใต้สะพานพุทธ ผ่านมาถึงย่านวัดอนงคาราม ฯ แวะชมมัสยิดกูวติลอิสลาม หรือ สุเหร่าตึกแดง จนทำให้รู้ว่าชุมชนย่านนี้แต่เดิมเคยมีเวลาเข้า-ออก ผ่านประตู 2 บาน คือประตู 5 PM ซึ่งเป็นประตูใหญ่ต้องเข้าก่อนห้าโมงเย็น หากใครมาไม่ทันต้องไปเข้าประตู 9 PM ที่เปิดให้แค่สามทุ่ม ใครมาไม่ทันอีก คงต้องไปอาศัยนอนแถวศาลาวัด… ประตูใหญ่ปัจจุบันยังคงใช้การอยู่ แต่ประตูเล็กถูกปิดตายและกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (อุทยานสมเด็จย่า)

ประะตู 5 PM ทางเข้าชุมชนมุสลิมตึกแดง
ประะตู 5 PM ทางเข้าชุมชนมุสลิมตึกแดง
ปิดท้ายทริปกรุงเทพฯ เดินเที่ยว ด้วยการไปหม่ำของอร่อย ๆ ทั้งหวานคาว แถวตลาดท่าดินแดง อิ่มพุงกลับบ้านกันไป… ใครมีเรื่องราวของกรุงเทพฯ อัพรูปลง facebook หรือ Instagram อย่าลืมติด hashtag … #walkingbkk #walkingbangkok จะได้รู้ว่าเมืองหลวงมีอะไรที่ใคร ๆ ไม่รู้อีกเยอะ

ประตู 9 PM ปัจจุบันถูกปิดตายและกลายเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่อุทยานสมเด็จย่า
ประตู 9 PM ปัจจุบันถูกปิดตายและกลายเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่อุทยานสมเด็จย่า
ต้องขอขอบคุณ … กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ ททท.สำนักงานกรุงเทพฯ ที่พาไปเดินเที่ยว เก็บเกี่ยวความรู้ใหม่ ๆ ใส่ลงสมองในครั้งนี้