ผ้าภูอัคนี เส้นสีจากผืนดิน

ผ้าภูอัคนีบุรีรัมย์

หากพูดถึง “ดิน” กับ “ผ้า” ดูเหมือนจะไม่เข้ากัน แต่ชาวบ้านชุมชนเจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ก็เลือกที่จะใช้สิ่งของรอบตัว ซึ่งหาได้ง่ายๆ อย่าง “ดิน” มาเป็นวัตถุดิบหลักในการย้อมผ้า ได้ยินแบบนี้ ที่มาต้องไม่ธรรมดา ทั้งยังใช้ดินทั่วไปมาย้อมไม่ได้เสียด้วย

ผ้าภูอัคนีบุรีรัมย์

เพราะความบังเอิญทำให้สิ่งธรรมดากลายเป็นสิ่งพิเศษ … ชุมชนเจริญสุขเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุจากลาวาภูเขาไฟ นอกจากปลูกพืชไร่งามแล้ว ชาวบ้านยังนำดินสีแดงมาขยี้น้ำ แยกหินกรวด เศษไม้ใบหญ้า นำน้ำสีแดงที่ได้มาใช้ย้อมฝ้าย ก่อนนำไปต้มกับเปลือกประดู่ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้พืชมียางเป็นตัวเคลือบสีให้ติดทนนาน ถักทอเป็นผ้าสีสวย นามว่า “ผ้าภูอัคนี” ผ้าย้อมดินภูเขาไฟที่มีสีสันอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

ผ้าทอภูอัคนีบุรีรัมย์

“ยายเคยย้อมผ้าด้วยดินแต่เป็นดินสีดำ วันหนึ่งยายขึ้นบนเขาไปเก็บเห็ด นั่งเขี่ยหาเห็ดไปทั้งวัน ดินบนเขามันเปื้อนผ้าถุง ติดตะกร้า ซักล้างยังไงก็ออกไม่หมด ก็เลยลองเอามาย้อมผ้าดู”

คุณยายสมศรี ถุนนอก ผู้อาวุโสกลุ่มทอผ้าภูอัคนี บ้านเจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ เล่าให้ฟังถึงการค้นพบดินบริเวณ “เขาพระอังคาร” ภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว 1 ใน 6 ลูก ของจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีเขาบริวารลูกเล็กๆ ที่ปู่ย่าตายายเรียกว่า “เขาดินแดง” มีเอกลักษณ์พิเศษคือ ฟากหนึ่งของเขามีดินสีแดง อันเป็นที่มาของผ้าภูอัคนีด้วยความบังเอิญ

ผ้าภูอัคนีบุรีรัมย์

คุณยายสมศรียังพบเรื่องที่ซับซ้อนขึ้นไปอีกชั้นว่า ดินจากรังปลวกที่อยู่ตามต้นไม้ มีเนื้อละเอียดเนียน สะอาดตามธรรมชาติ ไม่ต้องเสียเวลานำมาร่อนเศษสิ่งที่ไม่ต้องการ ซ้ำยังให้สีสดกว่าที่ขุดจากหน้าดินปกติ

“ของดีเลยนะ เริ่มแรกจริง ๆ ยายใช้ดินจากรังปลวกนี่แหละ เพราะย้อมผ้าชิ้นเล็ก ๆ เก็บไว้ใช้เอง แต่มันมีน้อย ตอนหลังเริ่มทำขาย เลยต้องเอาดินขุดมาใช้ แถวนี้มีดินแดงเยอะ แต่ใช้ไม่ได้เพราะไม่ใช่ดินภูเขาไฟ”

ผ้าภูอัคนีบุรีรัมย์

กว่าจะได้มาซึ่งผ้าผืนสวย พลิ้วเบานุ่มมือ ต้องพบอุปสรรค มีเรื่องให้ขบคิดมากมาย สำรวย ศรีมะเรือง ประธานกลุ่มสตรีทอผ้าไหม-ผ้าฝ้าย บ้านเจริญสุข เล่าให้ฟังถึงการนำดินจากเขาพระอังคารมาศึกษาหาความรู้และพัฒนาคุณภาพอย่างจริงจังอีกครั้ง จนเป็นสินค้าที่ทุกคนยอมรับอย่างปัจจุบัน

“เมื่อก่อนเราก็ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม แต่ต้นทุนค่อนข้างสูงและมีข้อจำกัดบางอย่าง ทำให้เราสู้ทางพุทไธสงและนาโพธิ์ไม่ได้ วันหนึ่งเลยคิดว่าจะพัฒนาผ้าย้อมดินภูเขาไฟ สร้างเอกลักษณ์ให้ผ้าฝ้ายบ้านเจริญสุขอย่างจริง ๆ จัง ๆ”

ผ้าภูอัคนีบุรีรัมย์

การขุดดินเพื่อนำมาใช้ นิยมทำในหน้าแล้ง เพราะความชื้นน้อย สะดวกกับการเดินขึ้นลงเขา โดยขุดลึกประมาณ 2 เมตร จะพบดินซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนตามต้องการ นำมาแช่น้ำปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 4 ชั่วโมง ขยำแล้วร่อนกรองเอาเศษสิ่งที่ไม่ต้องการออก จะได้ดินแดงเนื้อเนียนสำหรับย้อมผ้า จับเส้นใยฝ้ายสีขาวมาแช่ราว 4 ชั่วโมง อาจน้อยหรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับสีที่ต้องการ นำขึ้นมาล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วย้อมซ้ำด้วยน้ำจากเปลือกไม้ประดู่ต้มเดือดอีก 40 นาที เพื่อเคลือบสีให้ติดทนนาน

ผ้าภูอัคนีบุรีรัมย์

“คนที่ซื้อผ้าไปช่วงแรก ๆ จะโทรมาบอกว่าผ้าเราสีหลุดง่ายซีดเร็ว เลยต้องคิดหาวิธีแก้ไข ซึ่งลองมาหลายอย่าง ทั้งลูกตะโก ลูกมะเกลือ ภูมิปัญญาเดิมของปู่ย่าตายายที่นำมาย้อมแหอวน แล้วก็มาลงตัวที่เปลือกต้นประดู่”

ผ้าภูอัคนีบุรีรัมย์

สำรวยเล่าว่า เปลือกของต้นประดู่ที่มีอายุมาก จะให้ยางเยอะและสีแดงเข้ม เข้ากันกับสีดินภูเขาไฟมากที่สุด แต่ทำให้ผ้ากระด้างเพราะเป็นยางไม้ เลยต้องออกตระเวนขอความรู้จากผู้เชี่ยวชาญตามที่ต่าง ๆ ทดลองมาหลายวิธีอย่าง แช่น้ำมะขามเปียก สุดท้ายมาจบด้วยเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัวคือ แช่ด้วยน้ำยาปรับผ้านุ่มหลังย้อมน้ำเปลือกประดู่

ผ้าภูอัคนีบุรีรัมย์

ชาวบ้านเจริญสุข มีต้นทุนฝีมือในการทอผ้าไหมมัดหมี่ในขั้นดีเยี่ยม จึงสามารถต่อยอดจากผ้าทอธรรมดา ออกมาเป็นชิ้นงานหลายอย่างทั้ง ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ เสื้อ ฯ ล ฯ จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ในชื่อว่า “ผ้าภูอัคนี” มีการรวมกลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าไหม-ผ้าฝ้าย แบ่งงานกันทำตามความถนัด พัฒนาสีสันนอกเหนือไปจากสีดั้งเดิมจากดินแดง เช่น สีเหลืองจากมะพูด สีแดงอมม่วงจากครั่ง ฯลฯ

ผ้าภูอัคนีบุรีรัมย์

“แถวนี้โรงโม่หินเยอะ เป็นหินบะซอลต์ที่เค้าเอามาทำถนน ใช้ในงานก่อสร้าง เราลองเอาฝุ่นหินมาร่อน แช่น้ำวิธีการเดียวกับดิน แล้วเอาไปย้อมผ้า หินที่โม่ออกมาใหม่ ๆ จะให้สีเทาสว่าง ถ้าโม่ทิ้งไว้นานจะออกเทาเข้ม ส่วนทำยังไงให้สีติดทน ก็ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ จนมาจบที่สูตร ลูกมะเกลือ ลูกตะโก เอาดอกอัญชันมาผสมให้สีมันชัดขึ้น”

ผ้าภูอัคนีบุรีรัมย์

“ดิน” ที่นำมาย้อมนั้นได้จากเขาดินแดง ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ตามตำนานที่ผูกโยงเกี่ยวกับการสร้างพระธาตุพนม ซึ่งกล่าวถึงการนำพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้ามาบรรจุไว้บนเขา คุณยายสมศรี ยังเสริมด้วยภาษาแบบชาวบ้านอีกว่า

ผ้าภูอัคนีบุรีรัมย์

“เขาอังคารเป็นรูปพระยาครุฑนอนคว่ำหน้า ขี้เถ้า (พระอังคารธาตุ) ของพระพุทธเจ้าฝังอยู่ไหล่ซ้ายของครุฑ คนแถวนี้เขาเชื่อว่า ใครได้ใส่ผ้าย้อมดินภูเขาพระอังคารจะเป็นสิริมงคลแก่ตัว ชาวบ้านจะขึ้นไปกราบไหว้ทำบุญทุกปีช่วงเดือนหก”

ผ้าภูอัคนีบุรีรัมย์

จากดินกลายเป็นดาว … ด้วยเม็ดดินธรรมดา แปรเปลี่ยนมาเป็นสีย้อมผ้าชั้นดีที่ธรรมชาติสรรสร้าง ประกอบกับภูมิปัญญาของชาวบ้าน ที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสร้างสรรค์ สร้างชีวิตให้ชุมชนด้วยเส้นสีจากผืนดิน ในนาม “ผ้าภูอัคนี”

กลุ่มสตรีทอผ้าไหม-ผ้าฝ้าย บ้านเจริญสุข           ต.เจริญสข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์                     โทร.08 9526 6071, 08 56332 7629

เรื่อง/ภาพ : ธนิสร หลักชัย, อรอุมา ศิลป์วัฒนานุกูล

artoftravelercom