พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา

พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา อยุ่ภายในอาคารศาลแขวงเมืองเชียงใหม่

มาแอ่วเชียงใหม่คราวนี้ วนเวียนอยู่ในเมืองเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ขึ้นดอยขึ้นเขาเหมือนทุกครั้ง เลยถือโอกาสแวะเข้าชม “พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา”เชื่อว่าคงไม่ใช่สถานที่ในฝัน เพราะชื่อก็สื่อแบบไม่อ้อมค้อมแล้วว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นของแสลงกับคนส่วนใหญ่ … แต่ที่นี่เค้าทำได้น่าสนใจ การจัดแสดงเรื่องราวต่อเนื่องชวนติดตาม จัดวางตำแหน่งไฟเน้นใจความสำคัญของหัวข้อต่าง ๆ ทำได้อย่างเหมาะสม บ่งบอกถึงความตั้งใจในการจัดทำ แอร์เย็นฉ่ำ บวกความคลาสสิกสวยงามของสถานที่ ควรค่าแก่การเข้าชมยิ่งนัก

พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
ข่วงแก้วล้านนา พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ภายในอาคารซึ่งเคยเป็นที่ตั้ง ศาลแขวงเชียงใหม่ ฝั่งตรงข้าม พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ที่เรามักคุ้นเรียกว่า อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ กันจนลืมชื่อเป็นทางการ แลนด์มาร์กใจกลางเวียงเชียงใหม่ ถูกปรับปรุงและใช้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา

พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
“ภายในวิหาร” พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่

หลังจ่ายค่าเช้าชมบริเวณเคาน์เตอร์ด้านหน้า จะได้รับแผ่นพับแผนผัง บอกเล่าภาพรวมของห้องจัดแสดงต่าง ๆ พ้นประตูเข้ามาด้านใน จะพบ “ข่วงแก้วล้านนา” จำลองวิถีชีวิตและพิธีกรรมแบบชาวล้านนา ที่มีผลต่อสถาปัตยกรรมและงานพุทธศิลป์ “ภายในวิหาร” ของห้องถัดไป ซึ่งล้วนเกี่ยวเนื่องกันเชื่อมโย่ง ไม่ได้สร้างขึ้นมาลอย ๆ โดยไร้ความหมาย

พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
“เครื่องสักการะ” พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่

แม้กาลเวลาจะผ่านมายุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองของผู้ครอบครองอาณาจักรมาหลายราชวงศ์ นับพันนับร้อยปีจนวิถีบางอย่างเจือจาง แต่ยังสามารถสืบค้นคาดเดาได้จากงานศิลปะ ส่วนใหญ่มักปรากฏอยู่ ณ ศูนย์กลางของชุมชน นั่นก็คือ “วัด” จึงใช้วิธีเล่าเรื่องตามลำดับตั้งแต่ “เครื่องสักการะ” เครื่องบูชา งานประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา อย่าง “ตุง” แบบต่าง ๆ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในต่างวาระ ทั้งงานมงคลและอวมงคล ทำให้เราเข้าใจความหมายของตุงมากขึ้น ว่าไม่ใช่เพียงของประดับสวยงามอย่างคนในยุคสมัยใหม่นำไปใช้

พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
“ประติมากรรม” พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่
พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
“จักสาน ทำมาหากิน” พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่

“ประติมากรรมในพุทธศาสนา” นับแต่ยุคโบราณเริ่มสร้างบ้านแปลงเมือง ฝีมือช่างพื้นบ้าน – ช่างหลวง มาจนถึงประเพณี “แห่ครัวทาน” “ จิตรกรรม” “หัตถศิลป์” หลากหลายแขนงทั้งเครื่องปั้น เครื่องเขิน เครื่องจักรสาน ดนตรีและการละเล่น เกี่ยวโยงคติความเชื่อ ความศรัทธาต่อพุทธศาสนา มีคำอธิบายไว้อย่างละเอียดในทุกห้อง หากได้อ่านไปด้วยจะช่วยให้การเที่ยวชมเพลิดเพลินยิ่งขึ้น

พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
“แห่ครัวทาน” พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่
พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
“งานจิตรกรรม” พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นลานนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ใครหลงใหลในความงดงามของผ้าทอ … บริเวณชั้นสอง นำเสนอผ้าทอมือของหลากหลายชาติพันธุ์ มาจัดแสดงหมุนเวียนให้ชม แต่ละผืนเป็นผ้าทอเก่าแก่ ลวดลายโบราณเป็นของล้ำไม่สามารถประเมินราคาเป็นจำนวนเงิน เพราะลายทอบางลาย ได้สูญหายไปจากชุมชน จึงได้อาศัยเกาะลายจากผ้าผืนงาม ซึ่งบางผืนอายุเกินร้อยปี แต่สภาพยังสมบูรณ์ เพราะลูกหลานได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี

พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
“ผ้าล้านนา” พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่

“มหรรฆภัณฑ์ล้านนา” นำเสนอเครื่องสูงในการสักการบูชาพระธาตุ พระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปเก่าแก่ เครื่องประดับต่าง ๆ แบบโบราณล้านนาหาชมยาก หลายชื้นเห็นแล้วถือเป็นบุญตายิ่งนัก

พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
“มหรรฆภัณฑ์ล้านนา” พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่
พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
ข้ามฝั่งไปหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่

ข้ามถนนไปฝั่งตรงข้าม ด้านหลังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ มีอาคาร “หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่” บอกเล่าเรื่องราวที่มาของอาณาจักรล้านนาและเวียงเชียงใหม่ นับแต่สร้างเมืองก่อนยุคราชวงศ์มังราย ร่อยรอยทางวัฒนธรรมในยุคสมัยตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าและหลังเป็นอิสระ กระทั่งเปลี่ยนสถานะจากประเทศราชมาเป็นจังหวัดเชียงใหม่

หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่
หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ชมภาพถ่ายเก่าหาชมยาก แนวกำแพงโบราณที่ขุดพบ สันนิษฐานว่าเป็นของวัดพระแก้ว ซึ่งสร้างในพระราชวังตามคติแบบรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง

หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่
หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่่
หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

น่าประหลาดใจในระหว่างเดินชมพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา จนถึงหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ กลับเห็นแต่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซื้อบัตรซื้อตั๋วเข้ามาชมอย่างตั้งใจ แม้แต่นักท่องเที่ยวชาวจีนที่ใคร ๆ ดูแคลนเรื่องมารยาททางสังคม กลับมีครอบครัวชาวจีนพร้อมลูก ๆ ดู ๆ แล้วไม่ได้เข้ามาแบบถูกบังคับโดยแพ็คเกจทัวร์ เพราะผู้ใหญ่จะคอยอ่านรายละเอียดที่จัดแสดงไว้ให้เด็ก ๆ ซึ่งแสดงอาการสนใจใครรู้ นิ่งฟังอย่างตั้งใจในทุกห้อง

พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ส่วนเรื่องการแต่งกายเท่าที่สังเกต ทางผู้ดูแลสถานที่ก็ไม่ได้ออกกฎเกณฑ์เข้มสักเท่าไหร่นัก แต่ก็ใช่ว่าจะปล่อยปละละเลยจนดูไม่เหมาะสม

หากมีโอกาสมาเยือนเชียงใหม่ ลองจัดสรรเวลามาแวะชมพิพิธภัณฑ์ ฯ และหอประวัติศาสตร์ ฯ … ยิ่งมาวันอาทิตย์ ออกมาชอปปิงถนนคนเดินต่อไปเลย ที่สำคัญคือ “ค่าเข้าชมถูกมาก” เมื่อเทียบกับความตั้งใจในการจัดสร้างและความรู้ที่จะได้รับกลับไป … กำไรเห็น ๆ

พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่

พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
เปิด 08.30 – 17.00 น. อังคาร – อาทิตย์ (ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
ปิดทำการ วันจันทร์และวันหยุดเทศกาลสงกรานต์
โทร.0 5321 7793 เว็บไซต์ www.cmocity.com

อัตราค่าเช้าชม
คนไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท
ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 90 บาท เด็ก 40 บาท

วันเวลา เปิด – ปิด /ค่าเข้าชม หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ เหมือนกับ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
(ข้อมูล : พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา – กันยายน 2559)

ขอขอบคุณ
กลุ่มสารสนเทศการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่