สิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย

สิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย

“หนูเป็นคนชอบดอกไม้ ต้นไม้ เวลาอยู่บ้านกับแม่กับน้า ก็จะช่วยกันจัดต้นไม้ มันเลยมีสองอย่างนี้เป็นส่วนประกอบในภาพที่วาดแทบทุกรูป”

เธอแทนตัวเองว่าหนู แต่ “พัช” คือชื่อเล่นที่ทุกคนรู้จักมักคุ้น บางคนก็เรียก “สิริ” สิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย ในวัย 28 ปี ศิลปินสาวชาวกาฬสินธุ์ ซึ่งไม่เคยผ่านเวทีศิลปะ แบบศิลปินคนอื่นที่เริ่มสร้างชื่อจากงานประกวด แต่ภาพวาดผู้หญิงนุ่งหุ่มผ้าทอพื้นเมือง ถ่ายทอดอัตลักษณ์หญิงชาวอีสาน รายล้อมด้วยดอกไม้สีหวานสดใสลายเซ็นของเธอ เริ่มเป็นที่จดจำในแวดวงศิลปะและนักสะสมมากขึ้นทุกวัน

สิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย

เด็กหญิงซึ่งเติบโตมาในครอบครัวชาวบ้านธรรมดา หวังเพียงเรียนจบปริญญา สอบบรรจุเข้ารับราชการเพื่อความมั่นคงในชีวิต จึงไม่ค่อยลึกซึ้งกับคำว่า “ศิลปะ” เพียงชอบขีดเขียนวาดรูปเหมือนเด็กทั่วไป เรามีโอกาสพูดคุยกับเธอ ในบ้านชั้นเดียวสีสันสดใส ตั้งอยู่ในรั้วเดียวกับบ้านไม้หลังใหญ่ ร่มเย็นด้วยไม้ให้ร่มเงา ไม้ผลเก็บกินได้ แซมด้วยผักสวนครัวตามแบบครอบครัวชนบท เป็นทั้งที่พักอาศัย สตูดิโอสร้างงาน แกลเลอรีส่วนตัว ริมรั้วมีไม้ดอกกระถางเล็ก ๆ สดใสสบายตาเหมือนรอยยิ้มของเจ้าของบ้าน

สิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย

เส้นทางศิลปะ …

“ถ้าจะพูดถึงเส้นทางศิลปะ หนูไม่ได้มาสายนี้เลย อยากเป็นพยาบาล แต่ก็วาดรูปบ้าง ชอบซื้อการ์ตูนหนูหิ่น มาวาดรูปคุณมิลค์ตามประสาเด็กผู้หญิง ตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจบ ม.3 แล้วจะมีสถาบันที่สามารถเข้าเรียนศิลปะได้โดยตรง จนจบ ม.6 ไปเรียนการท่องเที่ยวและการโรงแรมที่ มมส (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) เพราะมีพี่เค้ามาแนะแนว เรียนได้เทอมเดียวก็ย้ายมาเรียนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาทัศนศิลป์”

สิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย

จุดพลิกผัน …

“ตอนเรียนการโรงแรม มันจะมีวิชาเลือกเสรี ซึ่งเราเลือกวิชาหนึ่งเกี่ยวกับศิลปะ แต่หนูจำชื่อไม่ได้แล้ว อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ที่มาสอน เค้าเปิดหมอลำ แล้วให้นักศึกษาดอรว์อิ้งด้วยจินตนาการจากการฟัง หนูก็วาดรูปผู้หญิงเป็นหมอลำ พออาจารย์เห็นงานเราก็ชมว่า ทำไมเขียนดีจังเลย ไม่เหมือนเพื่อนคนอื่น ซึ่งเค้าวาดอะไรหนูไม่รู้หรอก เพราะอาจารย์เป็นคนตรวจ เลยลองถามอาจารย์ว่า ถ้าอยากย้ายมาเรียนศิลปะจะทำได้หรือเปล่า อาจารย์แกดูดีใจแล้วบอกให้รีบย้ายมาเลย”

สิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย

เริ่มนับหนึ่ง …

“อาจารย์เค้าจะสอนดรอว์อิ้ง โครงสร้างพื้นฐานของคน เรามีความชอบแต่ไม่มีพื้นฐานที่ถูกต้อง เพื่อนส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาบ้างแล้ว เราเลยช้ากว่าคนอื่น แต่ค่อย ๆ เรียน ค่อย ๆ หัด จนปีสี่หนูก็ได้รูปมารูปหนึ่ง ชอบวาดผู้หญิง เน้นเป็นผู้หญิงพื้นบ้านอีสาน จะได้เป็นเอกลักษณ์ของเราเพราะเราเป็นคนอีสาน งานส่วนใหญ่ได้อิทธิพลมาจากงานของอาจารย์จักรพันธุ์เพราะเราชอบงานของท่าน”

สิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย

ครอบครัวคือกำลังใจสำคัญ …

“แม่ไม่ว่าอะไรเลย ให้เราตัดสินใจด้วยตัวเอง ตอนแรกคิดว่าเรียนศิลปะ จบมาอย่างน้อยก็สอบเป็นครูได้ พอจบ ป.ตรี อาจารย์แนะนำให้เรียนต่อ ป.โท เพราะสามารถสอบเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยได้ แต่ก็ไม่ได้ชอบนะคะ ตอนเรียน ป.โท ปี 2558 หนูเคยได้รับทุนของมูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยเค้าจะคัดเลือกจากนิสิตที่มีผลงานและผลการเรียนดี ในระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยละ 2 ทุน แต่พอจบมาความรู้สึกอยากรับราชการมันเริ่มหายไป คือศิลปะมันซึมซับอยู่กับเรามากแล้ว เลยไม่อยากอยู่กับระบบ อยากทำอะไรที่มีความสุขกว่า แต่ก็ไปลองสอบบรรจุ สองที่ไม่ได้เลย (ยิ้ม)”

สิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย
เลือกวาดรูปเป็นอาชีพ …

“ถ้าจะพูดถึงการเขียนรูปจริง ๆ จัง ๆ ก็ประมาณสองปี ตั้งแต่จบปริญญาโท แต่ตอนนั้นเรายังมีคำถามกับศิลปะเยอะมากว่า ศิลปะเป็นยังไง บางครั้งหนูก็ไม่ได้หาคำตอบของงานหนูนะ มีคนถามว่ารูปนี้สื่ออะไร หนูก็ไม่ตอบ ไม่ตอบตัวเองด้วย บางคนเค้าจะคิดเลยว่ารูป ๆ หนึ่งต้องเขียนยังไงให้ขายได้ แต่หนูไม่ได้คิดเรื่องนั้น หลังตัดสินใจวาดรูปเป็นอาชีพ เวลาไปเจอพวกพี่ ๆ เค้าจะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า อิจฉาเราที่ไม่ได้อยู่กับระบบ ได้เขียนงานแบบอิสระ หลายคนบ่นว่ากำลังจะถูกระบบกลืนกิน ไม่ได้เขียนรูปเต็มที่ แต่การเป็นอาจารย์มันก็มั่นคง ความรู้สึกหนูไม่ได้บอกว่าอันไหนดีกว่ากัน ขึ้นอยู่กับเราถ้ารักมันจริง ๆ ทำแล้วมีความสุขกับอันไหนมากกว่า”

สิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย
เรียกรูปแบบงานของตัวเองว่า …

“น่าจะอุดมคตินะคะ เพราะรูปผู้หญิงที่วาด เราจะใส่จิตวิญญาณความเป็นตัวตนของเราลงไปในชิ้นงาน ทำให้บางคนบอกว่ารูปที่ออกมาหน้าคล้ายเรา เอกลักษณ์ภาพวาดของเราคือความเป็นอีสาน แล้วก็นางรำอีสาน เขียนอย่างอื่นก็ได้แต่อยากให้เค้าเห็นปุ๊บรู้เลยว่าอีสาน

หนูว่าการเขียนภาพคนมันยากมาก โชคดีมีเพื่อนที่ศึกษาเรื่องผ้า เราก็ปรึกษาขอความรู้จากเค้า เทคนิคส่วนตัวคือหาแบบมาแต่งตัวแล้วถ่ายรูปไว้เป็นไกด์ไลน์ หนูชอบอ่านวรรณกรรมอีสาน ตอนนี้กำลังศึกษาเรื่อง นางฟ้าหยาด ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกอยู่คือ พระธาตุยาคู ไปค้นคว้าทั้งเรื่องประวัติ เรื่องการแต่งกาย ชุดของกาฬสินธุ์เป็นยังไง สมัยทวารวดีเป็นยังไง แต่ไม่ได้ต้องการเขียนให้เหมือนเป๊ะ เพราะอยากใส่รูปแบบความเป็นตัวเราลงไปด้วย”

สิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย
ชอบเขียนผู้หญิงเดี่ยว ๆ …

“เป็นกลุ่มก็มีแต่ชอบเดี่ยวมากกว่า เพราะดูแล้วมันปะทะเลย อย่างรูปนี้ (เธอชี้ให้ดูรูปที่อยู่ด้านหลัง) ด้านหลังมันมีตุงใยแมงมุม ก็วาดเบลอ ๆ เป็นองค์ประกอบเฉย ๆ คนมาซื้องานหนูแต่ละคนก็ชอบไม่เหมือนกัน รสนิยมต่างกัน บางรูปก็ชอบมากบางรูปไม่ชอบเลย แต่อีกคนกลับชอบ คนเรามันชอบไม่เหมือนกัน ช่วงนี้พยายามเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ว่าตัวเองชอบแนวไหนมากที่สุด แต่แนวคิดยังเป็นเรื่องเดิมอยู่คือผู้หญิงอีสาน”สิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย

นักสะสมรู้จักเราจาก …

“ครั้งแรกคือ เอางาน Thesis ปริญญาโท ไปแสดงกับพี่ ๆ ที่ตลาดต้นตาล ขอนแก่น แล้วมีรุ่นพี่เค้าขอเอาภาพวาดเราไปลงหน้าปกหนังสือ ทางอีศาน ตอนหลังเค้ามาขออีก กับเอาประวัติหนูไปเขียนลงในหนังสือด้วย มีคนสนใจขอดูรูปแล้วซื้อไปเกือบหมด(สิบกว่ารูป) ราคาสำหรับหนูตอนนั้นมันโคตรเยอะ เป็นสิ่งที่สร้างกำลังใจให้เรามาก ๆ ถ้าเราขายงานไม่ได้ก็อยู่ไม่ได้ เพราะเราเลือกอาชีพนี้แล้ว คนแรกที่บอกคือแม่ แม่ดีใจมาก แต่ตอนแรกไม่กล้าบอกใครเพราะจำนวนเงินมันสูง หนูคุยผ่านเลขาฯ ไม่เคยคุยกับคนซื้อมันเลยยิ่งไม่มั่นใจ เค้าเอารูปเราไปแล้วจ่ายมัดจำมาครึ่งเดียว ความรู้สึกตอนนั้นก็กลัวโดนหลอก”

สิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย
กำลังใจเริ่มมา …

“ใช่ค่ะ หนูแสดงงานที่ตลาดต้นตาล ขอนแก่น จะมีนักสะสมมาดูงาน บางคนก็สั่งเป็นชุด บางคนก็สั่งเป็นชิ้น บางคนเค้าจะสั่งแบบให้วาดใหม่ ปลายปีที่แล้ว (2560) หนูแสดงงานครั้งที่ 2 ลูกค้าที่เคยซื้อรูปหนูไปคนแรกท่านก็ซื้ออีก เมื่อต้นปี (2561) หนูเอารูปไปส่งด้วยตัวเอง ได้เจอท่านก็บอกว่างานหนูมันเป็นอีสาน มันมีเอกลักษณ์ท่านชอบ ท่านซื้อไปประมาณเกือบสามสิบรูปแล้วน่าจะได้ ซื้อไปเก็บสะสม มีอีกสามสี่คนที่ซื้อไปตกแต่ง แต่ไม่ได้ซื้อเยอะเหมือนท่าน”

สิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย
ส่งประกวดบ้างหรือเปล่า …

“เคยคิดจะส่งเหมือนกันแต่ไม่พร้อม เพราะงานของหนูมันเน้นความสวยงามมากกว่าแนวความคิด ไม่ใช่กดดันนะคะ แต่งานประกวดต้องมีแนวคิด งานหนูเป็นอิมเพรสชันนิสม์ เพราะชอบสีเยอะ ๆ ดูแล้วมีความสุข หนูมองว่างานประกวดมันลุ่มลึกกว่างานที่เรากำลังทำอยู่ การที่หนูไม่เคยส่งงานประกวด ทำให้คนที่สะสมงานหลายคนเลยยังไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ อนาคตก็ฝันอยากมีชื่อเสียงไปถึงเมืองนอก เหมือนศิลปินระดับอาจารย์หลาย ๆ ท่าน แต่ตอนนี้ก็ค่อยเป็นค่อยไป ซึมซับไปเรื่อย ๆ ค่ะ”

สิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย

อยากให้กาฬสินธุ์เป็นเมืองศิลปะ…

“อยากมาก ๆ ช่วงหลังไปเจอพี่ ๆ อย่างพี่เจษฎา คงสมมาศ ฯลฯ ทำให้รู้ว่ากาฬสินธุ์มีศิลปินเยอะ อยากจะผลักดันให้มีการสร้างงาน ถ้าเราสร้างงานศิลปะขึ้นมาจะทำให้การท่องเที่ยวมันดีขึ้น เหมือนภูมโนรมย์ที่มุกดาหารมีรูปปั้นพญานาค ถ้ากาฬสินธุ์มีแบบนั้นหรืออย่างอื่นที่เป็นเอกลักษณ์ ก็จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวไปในตัว อย่างการสานไดโนเสาร์ที่หนูเพิ่งไปดูมา ถ้ามีตั้งอยู่ในเมืองมันก็จะดีมาก มีคนที่เค้าเดินทางมารับงานของหนู เค้าก็ไม่รู้จะไปเที่ยวไหน หนูก็พาไปเขื่อนลำปาว ไปดูพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ไปวัดภูค่าว เค้าถามว่าที่นี่มีหอศิลป์หรือเปล่า ซึ่งมันไม่มี เราเลยอยากให้มีหอศิลป์ แกลเลอรีของจังหวัดบ้าง”

สิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย

ศิลปินหญิงกาฬสินธุ์นอกจากเรา …

“เท่าที่รู้ไม่มีนะคะ แต่มีเพื่อนผู้หญิงที่เค้าวาดจิตรกรรมฝาผนังในวัดกับแฟนเค้า ก็จะออกไปแนวนั้นเลยไม่ได้มาทำแบบหนู แต่ตัวหนูเองก็วาดถวายหลวงตาที่วัดนะ วัดหนองไหลวนาราม ใกล้ ๆ บ้านนี่แหละ เขียนเรื่องพระเวสสันดรบนศาลาการเปรียญ วาดให้ร่วมสมัยแต่มีกลิ่นอายของอีสาน ทั้งหมดมี 13 ช่อง แต่ยังเขียนไม่หมด วาดแล้วให้คนบริจาคทำบุญช่องละห้าพันหาเงินเข้าวัด ปีนนั่งร้านทำคนเดียว มีแม่กับน้าคอยมาช่วยส่งเสบียง ล้างพู่กัน ขนของ เรามีความถนัดด้านนี้ เลยทำในสิ่งที่ถนัดถวายวัด แต่ช่วงนี้ยังพักไว้ก่อน เพราะต้องเตรียมงานไปจัดแสดงช่วงเดือนธันวาคมที่หอศิลป์จามจุรี”

สิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย

กลางปี 2560 สิริรัตน์ฎา พร้อมศิลปินรุ่นใหม่และนักศึกษาที่เคยได้รับทุน จากกองทุนส่งเสริมการศึกษาการสร้างสรรค์ศิลปะ มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รวมถึงศิลปินอาวุโสและศิลปินแห่งชาติ ได้เดินทางไปร่วมกิจกรรม Art Camp ที่จังหวัดน่าน ภาพวัดภูมินทร์เทคนิคสีอะคริลิคบนผ้าใบของเธอ ถูกคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 ภาพที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม และถูกเลือกให้เป็นภาพปกสูจิบัตรของนิทรรศการ Art Camp ซึ่งจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ถ.เจ้าฟ้า ส่วนภาพจริงถูกส่งมอบให้เจ้าของคนใหม่คือ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี

สิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย

เดือนธันวาคม 2561 นี้ สิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย จะมีงานแสดงเดี่ยวที่หอศิลป์จามจุรี | Charmchuri Art Gallery เป็นอีกก้าวความฝันของเด็กผู้หญิงธรรมดา จากบ้านแก่งนาขาม ต.นาจารย์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ใครที่สนใจงานหรืออยากรู้จัก เข้าไปทักทายได้ที่ FB : Siriratda Noiwichai

artoftravelercom