วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านโพธิ์เมือง

วิสาหกิจชุมชนบ้านโพธิ์เมือง

ลมจากฝั่งลาวหอบเอาความหนาวข้ามฝั่งโขง โดยไม่ต้องผ่านพิธีทางศุลกากร เข้ามายัง เฮือนชูฮัก โฮมสตังค์ เรือนไม้ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์ และยังเป็นฐานที่มั่นอันอบอุ่น ของกลุ่มทอผ้าเล็ก ๆ ในชุมชนบ้านโพธิ์เมือง ตำบลนาแวง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เมืองเล็ก ๆ ริมแม่น้ำโขง ที่ชื่อเสียงไม่เป็นรองใคร เรื่องความสวยงาม ประณีตบรรจง ของงานหัตถกรรมอย่าง ผ้าฝ้ายเข็นมือ แห่งหนึ่งของภาคอีสาน

ภายในอาณาบริเวณของเฮือนชูฮัก โฮมสตังค์ แบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วน ด่านหน้าคือโซนต้อนรับ เสิร์ฟเวลคัม ดริ๊งค์ พบปะพูดคุย แผนกทอประจำการใต้ถุนเรือนหลังแรก แปลงปลูกฝ้ายเล็ก ๆ สำหรับเป็นพื้นที่เรียนรู้อยู่ถัดไป ใต้ถุนเรือนหลังใน ถูกจัดไว้สำหรับ อิ้ว ดีด กรอ ฯลฯ ฝ้ายสีขาว-สีตุ่น กอดกันกลมอยู่เต็มกระจาดไม้ไผ่ ใกล้กันคือโรงต้มย้อมสี ที่ได้จากต้นไม้ ใบไม้ เป็นงานแฮนด์เมดที่ผูกมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างหมดหัวใจ

เริ่มต้น …

แม่น้อย – ธนันท์นิตรา ธนิกสุขธนัยชัย ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านโพธิ์เมือง เล่าถึงที่มาของกลุ่ม ซึ่งออกจะดูแปลกไปจากชุมชนอื่นในภาคอีสาน ที่มักส่งผ่านความรู้จากรุ่นสู่รุ่นแบบไม่มีเว้นวรรค

“เรารวมกลุ่มเพื่อออกกำลังกาย โดยการเต้นรำวงย้อนยุค และเต้นบาสโลบ แบบทางฝั่ง สปป.ลาว เขานิยมกัน จนถูกเชิญไปเต้นโชว์ เวลามีกิจกรรมต่าง ๆ ของอำเภอเขมราฐ และละแวกใกล้เคียงอยู่บ่อย ๆ คือจุดเริ่มต้นของกลุ่มทอผ้าฝ้ายเข็นมือ ย้อมสีธรรมชาติในเวลาต่อมา”

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านโพธิ์เมือง

การพูดคุยหลังออกสเต็ปเรียกเหงื่อทุกเมื่อเชื่อวัน นางรำแต่ละคนต่างล้วนมีวิชาทอผ้าติดตัวกันมาตั้งแต่เป็นเด็กน้อย บ้างยังทอไว้ใช้เอง หรือฝากให้ลูกหลานเป็นงานอดิเรก แต่บางคนแขวนกี่อย่างถาวร เมื่อความคิดตกผลึก ตระหนักถึงภูมิปัญญาการทอผ้าฝ้ายเข็นมือ ที่นับวันจะเลือนหายไปจากชุมชน จนอาจเป็นเพียงเรื่องเล่า ว่าบ้านโพธิ์เมืองเคยมีการปลูกฝ้าย ทอผ้า จึงเริ่มลงมือลงแรง รื้อฟื้นภูมิปัญญาการทอผ้าอย่างจริงจัง

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านโพธิ์เมือง
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านโพธิ์เมือง

ลงมือ …

“สมัยก่อนแถบริมโขงจะเป็นพื้นที่ปลูกฝ้าย พวกแม่มัดหมี่ ทอผ้า ตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ เพราะเป็นงานที่ผู้หญิงสมัยนั้นต้องเรียนรู้ เพื่อทอพวก ผ้าซิ่น ผ้าห่ม ไว้ใช้เองในครอบครัว เราก็เลยพากันไปขอความรู้เพิ่มเติม จากผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังทอผ้าอยู่ เขาก็ถ่ายทอดให้อย่างเต็มใจ แบบไม่เหลืออะไรให้สอนอีกแล้ว แต่ผ้าทอเก่า ๆ ในหมู่บ้าน ที่พอจะใช้เป็นตัวอย่างแทบไม่มีเลย เพราะคนสมัยก่อน เขามักทอผ้าสำหรับตัวเองไว้หนึ่งผืน แล้วสั่งลูกหลานว่า เมื่อเสียชีวิต ให้นำผ้าผืนนั้นเผาไปพร้อมกับเขาด้วย จะได้เอาไปใช้ในภพภูมิข้างหน้า”

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านโพธิ์เมือง

แม่น้อยและสมาชิกกลุ่มรำวงย้อนยุค เริ่มต้นจากลายง่าย ๆ อย่างลายตาโล่ ลายผักแว่น ย้อมด้วยสีเคมีเป็นหลัก แต่ได้รับคำแนะนำจากลูกหลาน ที่เข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ รวมถึงอาจารย์ผู้แตกฉานเรื่องงานมัดหมี่ จากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ให้เปลี่ยนมาใช้สีจากพืชพันธุ์ธรรมชาติ เริ่มจาก “คราม” ซึ่งใช้กันมาแต่โบร่ำโบราณ และยังใช้สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับเพิ่มลายผ้าเก่าแก่ที่เป็นอัตลักษณ์ของบ้านโพธิ์เมืองคือ “ลายหมากไม”

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านโพธิ์เมือง
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านโพธิ์เมือง

ว่ากันว่าลายหมากไมนั้น เกิดขึ้นมานับเป็นร้อยปี สมัยก่อนคนในหมู่บ้านมักใช้ “ไม้ซ่าว” ทำจากไม้ไผ่บากร่องตรงปลาย ไว้สำหรับสอยหมากไมหรือผลไม้ให้หลุดจากต้น บิดไปบิดมาจนลำไม้ไผ่แตกเป็นเกลียว แต่ชาวบ้านหาได้มีตรรกะเชิงฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับ ไอแซก นิวตัน ผู้ค้นพบทฤษฎีแรงโน้มถ่วง จากการร่วงหล่นสู่พื้นของผลแอปเปิ้ล แต่ตีความร่องรอยแตกของไม้ไผ่ในมุมมองศิลปะ จึงจดจำนำมาถอดลาย มัดหมี่ แล้วทอออกมาเป็นผืนผ้า ตั้งชื่อว่า “ลายหมากไม” ตามเหตุปัจจัยที่ค้นพบ

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านโพธิ์เมือง
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านโพธิ์เมือง
(บน) ลายหมากไม (ล่าง) ลายใบโพธิ์

เรื่องราวรอบตัวภายในชุมชน ถูกจินตนาการออกมาเป็นลวดลายกราฟิก โดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ที่เข้ามาให้คำแนะนำและช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง อย่าง “ลายใบโพธิ์” ที่ได้แรงบันดาลใจจากต้นโพธิ์ ไม้ใหญ่คู่หมู่บ้านมานานกว่าร้อยปี “ลายไห” แกะจากไหโบราณ สำหรับใส่กระดูกคนตาย ซึ่งขุดค้นพบบริเวณหนองน้ำละแวกหมู่บ้าน สันนิษฐานว่า เป็นของชาวไทข่า ที่มาลงหลักปักฐานอยู่ย่านนี้ในอดีต “ลายปลาแกง” ปลาจากแม่น้ำโขงที่ชาวบ้านนิยมนำมาปรุงเป็นลาบรสแซ่บ มากกว่าต้มยำทำแกงเหมือนชื่อปลา “ลายขาเปียเล็ก” ได้จากไม้เปีย อุปกรณ์สำหรับจัดเก็บฝ้ายที่เข็นเป็นเส้นแล้ว “ลายตุ้มป่อง” จากตุ้มดักปลา ฯลฯ

“นอกจากของดั้งเดิม และลายที่แกะขึ้นใหม่ เรายังนำพืชพันธุ์ในท้องถิ่น มาใช้เป็นวัตถุดิบในการย้อมสีอย่าง สีฟ้า-สีน้ำเงิน จากต้นคราม ที่ปลูกเองในชุมชน สีน้ำตาลทองจากต้นอะราง สีเขียวอ่อนจากใบย่านาง/ใบหูกวาง สีชมพูจากครั่ง สีเทาอ่อนจากมะเกลือ ฯลฯ โยนสีเคมีทิ้งไป ไม่แตะอีกเลย เรายังมีเทคนิคก่อนย้อมคือ จะนำฝ้ายไปตำในครก เพื่อนวดให้เนื้อฝ้ายนิ่ม ทำให้ย้อมติดง่าย รวมถึงการฆ่าฝ้าย คือนำเส้นฝ้ายไปต้มในน้ำข้าว เพื่อเพิ่มความเหนียว ไม่ขาดง่ายเวลาทอ”

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านโพธิ์เมือง

เดินทาง …

จากผ้าทอธรรมดาที่ดูเรียบง่าย ต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ถูกดีไซน์ให้เก๋ไก๋ทันสมัย นำไปใช้ในชีวิตประจำวันเช่น เสื้อ กระเป๋าผ้า กระเป๋าสะพาย กระเป๋าสตางค์ หมวก ที่คาดผม ต่างหู ฯลฯ เมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในปัจจุบัน ได้นำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มไปออกบูธจำหน่ายที่ อิมแพคเมืองทองธานี จึงเริ่มเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ มีออเดอร์สั่งเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านโพธิ์เมือง
ผ้าฝ้ายเข็นมือ “ลายหมากไม” แบบยกม้วน

“ลูกค้านิยมสั่งแบบยกม้วน เพราะจะเอาไปตัดเป็นเสื้อ กระโปรง ปัจจุบันเรียกว่า ทอไม่ทัน เพราะงานเราเป็นฝ้ายเข็นมือ ย้อมสีธรรมชาติ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นงานละเอียด ใช้เวลาพอสมควร ลายหมากไมจะได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะดูเรียบง่าย ใส่ได้ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง ส่วนผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่แปรรูปออกมา ปัจจุบันเราใช้ชื่อแบรนด์ว่า ชูฮัก ชื่อเดียวกับโฮมสเตย์ สำหรับให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักค้าง ชิมอาหารท้องถิ่น เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน”

ส่งต่อความรู้ …

ความสุขของสมาชิก วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านโพธิ์เมือง ไม่ได้จบลงด้วยการมีสุขภาพกายที่ดี ความภาคภูมิใจที่ได้รื้อฟื้นวิถีเดิมของบรรพบุรุษ สามารถสร้างรายได้ และชื่อเสียงของหมู่บ้านให้เป็นที่รู้จัก หากยังนำกระบวนการทอฝ้ายเข็นมือ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เป็นเครื่องมือสื่อสาร เชื่อมโยงคนยุคอะนาล็อกกับคนยุคดิจิทัล สองเจเนอเรชั่นเข้าไว้ด้วยกัน

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านโพธิ์เมือง
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านโพธิ์เมือง
ที่คาดผม เสื้อ กระเป๋าผ้า จากผ้าฝ้ายเข็นมือบ้านโพธิ์เมือง

“ตอนนี้กลุ่มของเรามีสมาชิกประมาณ ๓๐ คน ครึ่งหนึ่งทอผ้าได้ ที่เหลือก็แบ่งงานกันไปตามความถนัด เพราะผ้าหนึ่งผืน ตั้งแต่เริ่มปลูกฝ้าย จนเสร็จสมบูรณ์ มีหลายขั้นตอน ตอนนี้กลุ่มของเราเริ่มเข้าไปสอนเด็ก ๆ ในโรงเรียนนาเมือง ซึ่งเป็นโรงเรียนในชุมชน

อย่างน้อยเขาก็ได้รู้จักขั้นตอนของการทอผ้าฝ้ายเข็นมือ เราเป็นคนจุดประกาย ให้พวกเขาไปสานต่อ เพราะหนทางของเด็ก ๆ ยังอีกยาวไกล กว่าจะจบถึงระดับมหาวิทยาลัย ถ้าเขาจริงจังก็สามารถยึดเป็นอาชีพอยู่ในถิ่นฐานของตัวเอง โดยไม่ต้องออกจากหมู่บ้านไปหางานที่อื่น แต่สิ่งสำคัญคือ เพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาให้พวกเขาเก็บรักษาไว้ ”

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านโพธิ์เมือง

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านโพธิ์เมือง
เฮือนชูฮัก โฮมสตังค์
เลขที่ ๓๐ หมู่ ๙ บ้านโพธิ์เมือง ตำบลนาแวง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
โทร.๐๖ ๑๙๒๔ ๑๑๕๖ (แม่น้อย)
Facebook : เฮือนชูฮัก
Instagam : Chu.Hug
Google Map : https://g.page/huanchoohug?share

artoftraveler.com