ดอกไม้พันดวง งดงามที่บ้านร้องแง

หน้าวิหารวัดร้องแง ชุมชนไทลื้อเก่าแก่ในเขต อำเภอปัว จังหวัดน่าน ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี จะมีสุภาพสตรีต่างวัย มาร่วมมือร่วมใจ ประดิดประดอย “ดอกไม้พันดวง” หรือ “ดอกไม้ปันโดง” เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ในการเทศน์คาถาพันหรือเทศน์มหาชาติ ประเพณีเล็ก ๆ เรียบง่าย แฝงคติความเชื่อทางพุทธศาสนา ที่ยึดโยงหัวใจอันงดงามของคนในชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน

พันดวง พันดอก พันคาถา

“สำเนียงไทลื้อจะออกเสียงว่า ดอกไม้ปันโดง ชาวบ้านจะร่วมกันทำในช่วงสาย เพื่อถวายในช่วงบ่ายถึงเย็น ของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ก่อนวันเพ็ญหรือเป็ง เดือนหนึ่งหรือเดือนเกี๋ยง การนับเดือนทางจันทรคติของชาวไทลื้อ จะเร็วกว่าคนไทยภาคกลาง ๑ เดือน แต่ช้ากว่าของล้านนา ๑ เดือน วันเพ็ญเดือน ๑๒ หรือวันลอยกระทงของคนภาคกลาง ของไทลื้อจะตรงกับเกี๋ยงเป็ง ส่วนของล้านนาจะเป็นยี่เป็ง”

จรันธนิน อุตรชน และ พ่อเหรียญ สุทธหวง ไวยาวัจกร ช่วยกันเล่า พร้อมเป็นล่ามแปลภาษา ถึงการนับเดือนแบบไทลื้อ ในระหว่างที่ผู้หญิงช่วยกันตระเตรียมดอกไม้พันดวง กันอย่างตั้งอกตั้งใจ เพราะเป็นงานที่เกิดขึ้นเพียงปีละครั้ง ทำและถวายในวันนั้น ไม้ไผ่เหลาเป็นเส้นบาง ๆ ถูกนำมาสานเป็น “แต๊ะ” หรือ “แตะ” แล้วบรรจงจัดเรียงดอกไม้ ที่เก็บจากหัวไร่ปลายนา รั้วรอบขอบบ้าน หรือริมทางถนน ที่ผลิบานในกาลนั้น โดยไม่ได้จำเพาะเจาะจงชนิด สี จนเต็มพื้นที่ของแตะ ซึ่งสานขึ้นรูปเป็นสี่เหลี่ยมแบบง่าย ๆ หรือใครจะประยุกต์เป็นรูปทรงอื่นตามจินตนาการ ก็ทำได้ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว นำแตะอีกอันมาประกบ มัดให้แน่นหนา ผูกเชือกทำห่วงสำหรับแขวน

วรวุฒิ เนตรทิพย์ ผู้ใหญ่บ้านร้องแง เล่าให้ฟังว่า ในสมัยก่อน แต่ละบ้านจะทำดอกไม้พันดวงมาจากที่บ้าน ไม่ได้มาทำรวมกันทีวัดเหมือนในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็จะทำมาบ้านละหนึ่งอัน บางบ้านอาจจะทำมาสองก็ได้ แล้วแต่ศรัทธาและความตั้งใจ นำไปวางรวมกันในวิหาร พร้อมด้วยตุงพันชั้น เทียนพันเล่ม ช่อหรือจ้อ จำนวน ๑,๐๐๐ จ้อ จ้อคือธงสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ตัดจากกระดาษสี กระดาษขาว ฉลุลายหรือไม่ก็ได้ ติดบนไม้ สำหรับนำไปปักบนต้นกล้วย หน้าทางเข้าวิหาร ที่ถูกสมมุติให้เป็นประตูป่า ทางเข้า-ออก เขาวงกต ที่พระเวสสันดรเข้าไปบำเพ็ญทานบารมีในป่าหิมพานต์ พร้อมพระนางมัทรี พระโอรสกันหา ชาลี

“ดอกไม้ที่อยู่ในแตะ จะถูกสมมุติเอาว่ามีจำนวนพันดอกพันดวง นำมาอุปโลกน์ หรือที่คนภาคกลางเรียกว่า ปลุกเสก เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ก่อนนำไปแขวนไว้ในอุโบสถ เวลาพระสงฆ์หรือฆราวาสเข้ามา ไหว้พระ สวดมนต์ ฟังธรรม ก็จะได้กลิ่นหอมอ่อน ๆ ของดอกไม้ที่โชยออกมา ทำให้จิตใจเบิกบาน มีความสุข จากนั้นพระสงฆ์จะเทศน์คาถาพัน ในวันแรกจำนวน ๗ ผูกหรือ ๗ กัณฑ์ และในวันถัดมา จะเป็นการเทศน์มหาชาติ จำนวน ๑๓ กัณฑ์”

ดอกไม้พันดวง จึงเป็นเครื่องหอมที่ถวายเป็นพุทธบูชา อิงกับเรื่องป่าหิมพานต์ ในเวสสันดรชาดก ซึ่งมีดอกไม้นานาพันธุ์ ส่งกลิ่นหอมไปทั่วทั้งเขตแดน

ถวายข้าวพันก้อน ฟังธรรม

เช้ามืดของวันถัดมา ซึ่งเป็นวันเกี๋ยงเป็ง หรือเพ็ญเดือนสิบสอง วันลอยกระทงของภาคกลาง ชาวบ้านจำนวนหนึ่ง จะตื่นมานึ่งข้าวเหนียวภายในวัดตั้งแต่ตีสาม ข้าวเหนียวหรือข้าวนึ่ง ร้อน ๆ ถูกปั้นเป็นก้อนกลม ๆ ใส่ก๋วยหรือกระจาดใบใหญ่ รองด้านล่างด้วยใบตอง จนครบ ๑,๐๐๐ ก้อน ตามจำนวน ๑,๐๐๐ พระคาถา ของการเทศน์มหาชาติ ๑๓ กัณฑ์ นำไปตั้งในวิหารเพื่อทำพิธีถวายเป็นพุทธบูชา ก่อนการเทศน์กัณฑ์แรก

ภายในวิหารจะถูกตกแต่งด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย พร้อมดอกไม้พันดวงที่ถวายเมื่อวันวาน จินตนาการว่าเป็นป่าหิมพานต์ ราวตีสี่กว่า ๆ ชาวบ้านจะทยอยเข้ามาที่วัด ใส่บาตรพระด้วยข้าวนึ่ง อาหารหวานคาว บริเวณที่จัดไว้ด้านข้างวิหาร ถวายดอกไม้คู่ เทียนคู่ บูชากัณฑ์เทศน์ในวิหาร และเทวดารักษาวัดทั้งสี่ทิศ ด้านหน้าวิหาร

วันนี้ยังเป็นวันทำบุญอุทิศให้แก่พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ชาวบ้านจะนำ “ก๋วยกัณฑ์ธรรม” สมัยก่อนจะใช้ไม้ไผ่สาน แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นภาชนะอย่างอื่นทดแทน เช่น ตะกร้า ฯลฯ บรรจุข้าวนึ่ง อาหาร ผลหมากรากไม้ ของที่บรรพบุรุษชื่นชอบสมัยยังมีชีวิต รวมทั้งข้าวเปลือก ข้าวสาร อาหารแห้ง พร้อมเขียนรายชื่อผู้ที่ต้องการทำบุญอุทิศให้แนบไปด้วย กระดาษรายชื่อจะถูกรวบรวมและขานให้ได้ยิน เพื่อให้ผู้ที่ถูกกล่าวนาม มารับผลบุญนี้จนครบทุกชื่อทุกก๋วย

“วันนี้จะมีการเทศน์มหาชาติ โดยเริ่มตั้งแต่เช้าถึงค่ำ จนครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ก่อนเริ่มแต่ละกัณฑ์ ชาวบ้านซึ่งเป็นใครก็ได้ เด็ก ผู้ใหญ่ ชายหญิง จะเข้ามาจุดเทียนเล่มเล็ก ๆ ปักไว้ข้างธรรมาสน์ ด้านหน้าพระประธาน พระก็จะเทศน์ไปเรื่อย ๆ จนถึงนครกัณฑ์ ซึ่งเป็นกัณฑ์สุดท้าย จะมีการโปรยข้าวสาร ซึ่งเปรียบเหมือนฝนแก้ว หรือรัตนธารา ที่พระอินทร์ดลบันดาลให้ตก ระหว่างที่พระเวสสันดรและพระนางมัทรี เสด็จกลับสีพีนคร แต่บางทีก็ใช้ลูกอม ผสมไปกับข้าวสาร ให้ชาวบ้านเก็บไปอมแก้ง่วง เพราะฟังธรรมมาทั้งวัน”

ดอกไม้พันดวง, วัดร้องแง, ไทลื้อ, เที่ยวปัว, อำเภอปัว, น่าน, เที่ยวน่าน, ประเพณีน่าน, ประเพณีไทลื้อ

การฟังเทศน์ ชาวไทลื้อและชาวล้านนา จะเรียกว่า “ฟังธรรม” จบกัณฑ์สุดท้าย ชาวบ้านจะออกมาจุด “สีสาย” หรือ “สุยสาย” เส้นเชือกฟั่นจากฝ้าย ยาวประมาณ ๑ วา โดยวัดความยาวจากคนทำเป็นหลัก สีสายแต่ละบ้านจึงมีความยาวต่างกัน เพราะ ๑ วาของแต่ละคนไม่เท่ากัน ไทลื้อบ้านร้องแง ใช้สีสายเป็นตัวแทนของโชคร้ายและสิ่งไม่เป็นมงคล หนึ่งเส้นคือ ตัวแทนของหนึ่งคน หรือสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอื่น ๆ ในบ้านเช่น สัตว์เลี้ยง พาหนะที่ใช้ขับขี่ ฯลฯ บางบ้านจึงเตรียมสีสายมาจำนวนหลายเส้น โดยจะแขวนไว้บนราว หรือใส่กะลาวางบนพื้นหญ้าแล้วจุดไฟ ระหว่างนั้นจะอธิษฐานขอให้เคราะห์โศกโรคภัย สิ่งไม่เป็นมงคล มอดไหม้ไปพร้อมกับสีสาย พร้อมไชโยโห่ร้องกันเป็นที่สนุกสนาน

ดอกไม้พันดวง, วัดร้องแง, ไทลื้อ, เที่ยวปัว, อำเภอปัว, น่าน, เที่ยวน่าน, ประเพณีน่าน, ประเพณีไทลื้อ

“ที่นี่ไม่มีการลอยกระทงเหมือนภาคกลาง มีแค่การถวายดอกไม้พันดวง และงานบุญเทศน์มหาชาติ ก่อนจบงานแต่ละปี จะมีพิธีถวายผ้าป่าแก่พระสงฆ์ สมัยก่อนถ้าพระรูปไหนถูกนิมนต์ และออกมารับผ้าป่า มีกฎว่า ภายในเวลา ๑ ปี พระรูปนั้นต้องห้ามสึก เรื่องของเรื่องคือชาวบ้านเขาไม่อยากให้พระที่ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานในหมู่บ้านลาสิกขา เลยคิดวิธีนี้ขึ้นมา เหมือนการเล่นสนุกก่อนจบงานบุญเรียกว่า หลอนพระตอดหรือหลอนพระต๊อด (ตอดหรือต๊อด สำเนียงภาคกลาง หมายถึง ทอด เอาของไปทอดวางไว้ เช่น ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า) พระบางรูปที่มีความตั้งใจจะสึกอยู่แล้ว ถ้าถูกขานชื่อเพื่อนิมนต์ให้มารับผ้าป่า ถ้าท่านอยู่บนธรรมาสน์หรืออาสนะ จะโดดหนีออกไปจากวิหารเลย ผมทันได้เห็นภาพนั้น แต่ปัจจุบันหลวงพ่อเจ้าอาวาสจะเป็นคนรับผ้าป่าเอง”

ไวยาวัจกรวัดร้องแง เล่าให้ฟังทั้งรอยยิ้ม เมื่อภาพเก่าปรากฏในความทรงจำ

ร้องแง หาใช่กระจองอแง

เล่าต่อกันมาว่า ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ชาวไทลื้อนำโดยเจ้าพญาเลน อพยพจากเมืองเลน แคว้นสิบสองปันนา ข้ามเขาข้ามเขต เพื่อมาหาแผ่นดินที่สงบ อุดมสมบูรณ์ จนมาพบทำเลที่เหมาะสม มีต้นมะแง ต้นไม้ที่มีผลเท่าลูกมะนาว ผิวเกลี้ยงแต่มีจุด รสเปรี้ยว ขึ้นอยู่เต็มสองฝั่งแม่น้ำ หรือ ฮ่องน้ำ จึงลงหลักปักฐานสร้างบ้านแปงเมือง และตั้งชื่อชุมชนว่า “บ้านฮ่องแง” ตามลักษณะภูมิประเทศ ก่อนจะกร่อนเสียงจนเป็น “บ้านร้องแง” ในปัจจุบัน

ชาวไทลื้อบ้านร้องแง ยังคงสืบรักษาประเพณี ความเชื่อ แง่งามของบรรพบุรุษไว้อย่างมั่นคงเข้มแข็ง ดอกไม้พันดวง จะถูกแขวนไว้ในวิหาร จนถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนเกี๋ยง ของปีถัดไป ชาวบ้านจะนำลงไปเก็บไว้ในที่เหมาะสม เปิดพื้นที่ให้ดอกไม้พันดวงชุดใหม่ ที่จะทำถวายในวันรุ่งขึ้น หมุนเวียนเป็นวงรอบเช่นนี้ทุก ๆ ปี

ขอขอบคุณ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานน่าน
กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

artoftraveler.com