โนราโรงครูท่าแค และชีวิตที่ถูกกำหนดของ เกรียงเดช ขำณรงค์

โนราโรงครูท่าแค
โนราโรงครูท่าแค

เสียงดนตรีประโคมขับ เทริดบนศีรษะขยับไหว ลูกปัดที่ร้อยเป็นชุดมโนราห์สะบัดพลิ้ว เล็บงอนยาวกรีดกรายตามจังหวะร่ายรำ ด้วยท่วงท่าอ่อนช้อยแฝงความเข้มขลังอยู่ในทีผู้คนนิ่งดูอย่างตั้งใจ ขณะมโนราห์วัยหนุ่มในนามกลุ่ม “เทพศรัทธา” รำถวายแด่ “ครูหมอโนรา” บรรพบุรุษซึ่งเชื่อว่า เป็นผู้มอบศิลปะการแสดงอันงดงาม นาฏลีลาที่ยึดโยงกับพิธีกรรม ความเชื่อ จิตวิญญาณและวิถีชีวิตของคนปักษ์ใต้ให้แก่พวกเขา

ทุกวันพุธที่สองของเดือน 6 จดวันศุกร์หรือเสาร์ของทุกปี … ณ วัดท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง สถานที่ซึ่งเชื่อว่า เป็นต้นกำเนิดมโนราห์ จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ซึ่งเป็นลูกหลานของ “ครูหมอ” และ “ตายาย” โนราจากทั่วสารทิศ คนในพื้นที่ คนต่างถิ่นที่สนใจ เดินทางมาร่วมงาน “โนราโรงครู” พิธีกรรมเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ ที่ต้องหาโอกาสไปให้ได้สักครั้งในชีวิต

“ครูหมอ หมายถึง บรรพบุรุษผู้ให้กำเนิดมโนราห์ ส่วนตายาย หมายถึง บรรพบุรุษมโนราห์ของเรา ความสำคัญของพิธีกรรมนี้คือ มารำบูชาครู ณ ถิ่นกำเนิดมโนราห์”

เกรียงเดช ขำณรงค์ นายโรงมโนราห์ เกรียงเดชน้อย นวลระหงส์ เจ้าพิธีโนราโรงครูวัดท่าแค บอกกับเรา

"เกรียงเดช ขำณรงค์" นายโรงมโนราห์เกรียงเดชน้อย นวลระหงส์ ... เจ้าพิธีโนราโรงครูท่าแค
“เกรียงเดช ขำณรงค์” นายโรงมโนราห์เกรียงเดชน้อย นวลระหงส์ … เจ้าพิธีโนราโรงครูท่าแค

ด้วยวัยเพียง 29 ปี แต่ “สืบทอด” หน้าที่เจ้าพิธีเป็นปีที่สอง นับแต่รุ่นปู่คือ โนราแปลกดำ ท่าแค (แปลก ชนะบาล) บรมครูโนราใหญ่แห่งท่าแค ต่อมาถึงรุ่นน้า โนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง (สมพงษ์ ชนะบาล) เลือดทุกหยดจึงมีเชื้อสายมโนราห์เต็มร้อย ไม่มีธาตุใดปลอมปน ชีวิตของเกรียงเดชตั้งแต่วัยเด็ก จนมาเป็นโนราเจ้าพิธีนั้น บางเรื่องก็เป็นโจทย์ที่ไม่อาจหาคำตอบได้

แม้จะมีลูกมาแล้วถึง 7 คน แต่พ่อแม่กลับมาตั้งจิตอธิษฐานขอบุตรชายจากครูหมอโนรา หากได้ดังหวังจะให้ลูกคนนี้เป็นผู้สืบทอดมโนราห์ต่อจากปู่และน้า น่าประหลาดใจคือ ตอนนั้นลูกชายสองคน (พี่ของเกรียงเดช) ก็รำมโนราห์อยู่ด้วย คนนอกอาจนึกฉงน เฉพาะคนในครอบครัวเท่านั้นที่ไม่มีข้อสงสัย

เด็กชายเกรียงเดชเติบโตมากับโรงมโนราห์ ปู่ไปแสดงที่ไหนก็ตามไปทุกครั้ง ซึมซับจนเกิดเป็นความรักและ “อยากจะเป็น” แต่อย่างไรผู้เป็นปู่ก็ไม่ถ่ายทอดวิชาให้ ด้วยเพราะท่านรำเป็นโดยไม่มีใครสอน

“ปู่บอกว่า … ถ้าอยากรำเป็นให้จำเอาเอง ผมก็นั่งกินเหนียวไก่อยู่ข้างม่าน นั่งดูนั่งจำไปเรื่อย โนราจบถึงเข้านอน เป็นอย่างนี้มาตลอด”

โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

โนราโรงครูท่าแค … ถือเป็นการบูชาครูครั้งใหญ่ประจำปี รายละเอียดทุกอย่างจึงยึดถือข้อปฏิบัติอย่างบรรพชน ตั้งแต่โรงครูหรือโรงพิธี ต้องปลูกแบบ “เรือนไม้เครื่องผูก” ยึดโครงสร้างให้มั่นคงด้วยสลักและการผูก ห้ามใช้ตะปูแม้แต่ดอกเดียว ใช้เสา 8 ต้น ไม่มีเสากลาง หลังคาจั่วมุงจาก ตรงกลางครอบด้วยกระแชง หากไม่มีสามารถนำใบเตยมาใช้ทดแทนได้ สร้างครอบ “ภูมิโรง” หรือพระภูมิเจ้าที่ ศาลพระภูมิซึ่งตั้งประจำที่อยู่แล้ว ต้องมีหมอมาไหว้ครูหรือภูมิโรงก่อน โนราจะถึงเข้าโรงได้

หิ้งสำหรับวางเครื่องบูชาหรือ “พาไล” กำหนดให้อยู่ “ทิศตะวันออก” เท่านั้น โรงครูจึงถูกบังคับให้หันไปทาง “ทิศเหนือ” หรือ “ทิศใต้” เรียกตามภาษาถิ่นว่า “ลอยหวัน” หรือตามตะวัน หากไม่วางแนวนี้จะเรียกว่า “ขวางหวัน” หรือขวางตะวัน เกรียงเดชบอกเคยพบในบางที่ ซึ่งสร้างตามอุปนิสัยของโนราเจ้าพิธีที่เป็นคนขวางโลก

“โรงครูต้องสร้างใหม่ทุกปี โดยยึดถือตามแบบโบราณ เพราะคุณค่าของโรงครู อยู่ที่การไม่ไปเปลี่ยนแปลง สื่อถึงความเข้มขลังในการบูชาครู อย่างปู่ผม ถ้าใครสร้างผิดแกจะไม่รำ โนราใหญ่ทุกคนมีความเชื่อว่า หากปล่อยให้อะไรผิด ๆ ครูหมอจะติติง เสนียดจัญไรสิ่งไม่ดีต่าง ๆ จะตกแก่โนราใหญ่”

"พาไล" หิ้งสำหรับวางเครื่องบูชา ถูกกำหนดให้อยู่ "ทิศตะวันออก" เท่านั้น
“พาไล” หิ้งสำหรับวางเครื่องบูชา ถูกกำหนดให้อยู่ “ทิศตะวันออก” เท่านั้น

“ครูหมอ” หมายถึง บรรพบุรุษผู้ให้กำเนิดมโนราห์ตามความเชื่อว่าคือ “พ่อขุนศรีศรัทธา” เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อครั้ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร ซึ่งทรงสนพระทัยในศิลปะและวรรณคดี ถือเป็นผู้รอบรู้ท่านหนึ่ง ได้ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับพ่อขุนศรีศรัทธาและพิธีกรรมโนราโรงครู จากกรมศิลปากรและแหล่งข้อมูลอื่น ๆ จนมาตั้งโรงครูเพื่อทำพิธีที่บ่อยาง จังหวัดสงขลา

ระหว่างตั้งโรงครู พ่อขุนศรีศรัทธาได้มาจับทรง (ประทับร่าง) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร แล้วบอกว่า ท่านอยู่วัดท่าแค จ.พัทลุง ไม่ได้อยู่ที่นี่ จึงเกิดพิธีกรรมโนราโรงครูท่าแค งานโรงครูใหญ่นับแต่นั้นมา

ช่วงโพล้เพล้พลบค่ำ “ตะวันนกชุมรัง” ถือเป็นฤกษ์งามยามดีในพิธี “เข้าโรง” เริ่มจากเบิกโรง โหมโรง ประกาศครู ชุมนุมครู รำถวายครู จากนั้นจะเป็นการแสดงเพื่อความบันเทิงให้คนมาร่วมงานได้ชม

“ความสำคัญของวันแรกคือ การตั้งบ้านตั้งเมือง ต้องมีขัน 12 นักษัตร ข้าวของสำคัญตามตำราอย่าง หญ้าคา หญ้าเข็ดหมอน ใบบอน รวงข้าว ลูกสะบ้า เงิน ทอง ฯลฯ เป็นการลงหลักปักฐานให้โรงครูที่ตั้งขึ้นมา พร้อมสำหรับพิธีและพร้อมรับครูหมอโนราที่จะลงมา”

โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

ไม่ว่าจะเดิน ยืน นั่ง ก่อนอาบน้ำ เรียกว่าทุกอิริยาบถ เด็กชายเกรียงเดช จะทบทวนท่ารำที่จดจำมาจากข้างม่าน จนเกิดความมั่นใจว่ารำได้ วันหนึ่งจึงไปบอกกับโนราสมพงษ์ผู้เป็นน้าว่า

“รำโนราเหมือนน้า ผมก็ทำได้ ไม่เห็นจะยาก”

เมื่อได้ยินแบบนั้น จึงบอกให้หลานชายในวัย 5 ขวบ แสดงให้ดู

“ผมวิ่งกลับบ้านไปบอกให้พ่อเอาทับ (กลองทับ) ไปตีให้หน่อย จะรำให้น้าพงษ์ดู รำเสร็จแกให้รางวัลผมมาเก้าสิบบาท รวมกับคนอื่น ๆ ก็ได้ราวสามร้อย”

เมื่อโนราน้อยฉายแวว จึงทิ้งเหนียวไก่และชีวิตข้างม่านก้าวสู่หน้าม่าน หลังจากนั้นพี่ชายทั้งสองก็หยุดรำมโนราห์อย่างถาวร ด้วยเหตุผลที่เชื่อกันในครอบครัวว่าเค้าคือ ผู้มาสืบทอด แต่ยังไม่ได้สวมชุดโนราสวย ๆ อย่างคนอื่น มีเพียงโจงกระเบน เข็มขัด เสื้อราชประแตน จนอายุ 7 ขวบ ปู่จึงอนุญาต แต่ให้สวมเทริดด้วยตัวเอง … “เทริด” เป็นเครื่องประดับศีรษะ ถือเป็นของสูง หากยังเด็กเกินไป ต้องมีผู้ใหญ่สวมให้

“โนราเป็นต้นกำเนิดของชาตรี ในการไหว้ครูโขน ละคร จะต้องมีเทริดโนรา เป็นหัวที่สามในการครอบครู ปกติเด็กในวัยนั้นไม่มีใครได้ใส่เอง ปู่บอกผมว่า ใส่เลย ใส่ได้ แต่ห้ามให้ใครใส่ให้ เพราะมึงรำเป็นเอง”

"เทริด" เครื่องประดับศรีษะ หนึ่งในเครื่องแต่งกายของมโนราห์
“เทริด” เครื่องประดับศรีษะ หนึ่งในเครื่องแต่งกายของมโนราห์

เด็กชายเกรียงเดช ได้รู้ ได้เห็น ถูกมอบโอกาสให้ทำบางสิ่งก่อนคนอื่นเสมอ ต่างจากเด็กวัยเดียวกัน เพราะคนโนราเชื่อว่า อาจเป็นอันตรายจากสิ่งที่มองไม่เห็น

“ปู่อาจจะเชื่อมั่นในวิชาความรู้ที่มีอยู่ และเชื่อว่าเราคือคนที่ครูหมอดูแลรักษา”

โนราแต่ละรุ่นจะได้รับการถ่ายทอดวิชา รวมถึงคาถาป้องกันอาคม จากคนที่ใช้มนตร์ดำ ซึ่งมักเป็นโนราด้วยกันเอง หากมีการตั้งเวทีประชันขันแข่ง วัดผลแพ้ชนะด้วยลีลาร่ายรำ บางครั้งยังต้องระวัง “ของ” ที่อีกฝ่ายซึ่งไม่ยึดมั่นในศีลธรรม “เป่า” หรือ “ปล่อย” เพื่อมาทำร้ายอีกด้วย

โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

“โนราใหญ่บางคนจะเก่งกาจเรื่องพิธีกรรม เป็นเจ้าอาคมขลัง เพราะโนรามีไสยศาสตร์ที่เรามองไม่เห็นเข้ามาพัวพันเกี่ยวข้อง อย่างปู่ผมรำประชันอยู่ดี ๆ ก็ขึ้นหนองทั้งตัว (ตัวเป็นตุ่มหนอง) คิดว่าน่าจะโดนยาเป่า แกพาตัวลงไปในคลอง เสกน้ำลายมาลูบตามตัวจนหาย แล้วก็ร่ายคาถา ตัดปลีกล้วย โนราหญิงที่อยู่โรงโน้นทุกคน อยู่ดี ๆ ประจำเดือนไหล รำไม่ได้ สมัยก่อนเค้าเล่นกันแรงมาก”

ตัวเค้าเองยังเคยถูกทำของใส่หน้าเวที แต่พลาดไปโดนนักแสดงในคณะ ปู่แปลกเป็นคนช่วยแก้ไขคลายมนตร์ หลายอย่างที่ปู่ถ่ายทอด หลายคำพูดที่ปู่พร่ำสอน ต้องทำเพื่อป้องกันและแก้ไข ไม่นำไปทำร้ายใครก่อน ทำให้เค้าเกิดความเชื่อมั่น จิตใจแข็งแกร่งขึ้น เกรียงเดชเชื่อว่าคาถาเป็นเครื่องชี้นำให้จิตเราคิดแบบนั้น จนเกิดความศรัทธา ดึงดูดให้มันเกิดผล สิ่งสำคัญคือความดีและศีลธรรมประจำตัว ที่จะช่วยให้สิ่งต่าง ๆ ซึ่งคอยคุ้มครอง มีพลังมากยิ่งขึ้น

โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

“วันพฤหัสฯ วันที่สองของงาน ถือเป็นวันครู เป็นวันสำคัญของพิธีการ โนราใหญ่จะตื่นแต่หัวรุ่ง ตามความเชื่อที่ว่า เพื่อปลุกครูหมอให้อยู่ประจำโรงนะ วันนี้ยังมีพิธีกรรม อยู่คุ้มครองลูกหลานอย่าไปไหน ขณะเดียวกันก็เป็นกุศโลบายของบรรพบุรุษ เพื่อปลุกแม่ครัวให้ตื่นมาทำกับข้าว … โนราใหญ่จะประกาศชุมนุมครู ถวายข้าวถวายของ แล้วหยุดพักจนถึงประมาณเก้าโมง ก็จะเริ่มประกาศครูใหม่ ถวายของมื้อกลางวัน โดยถือยามพระเป็นหลักไม่ให้พ้นเวลาเพล”

ลูกหลานครูหมอ ตายายโนรา ที่หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศเพื่อมาบูชาครู ตามความเชื่อที่ว่าวัดท่าแคแห่งนี้เป็นจุดกำเนิดมโนราห์ ครูหมอยังเฝ้ามองลูกหลานอยู่ที่นี่ จะเข้าไปจุดธูปเทียนบอกกล่าวต่อรูปเคารพพ่อขุนศรีศรัทธา แล้วเชิญครูบาอาจารย์ของใครของมัน มาประทับร่างหรือ “เข้าทรง” ในแบบที่คนทั่วไปเข้าใจ แต่ละคนจะแสดงอาการท่าทางต่างกันไป บ้างร้องไห้ บ้างเป็นคนแก่หลังงองุ้มต้องมีคนช่วยพยุง บ้างร่ายรำ บ้างสำแดงฤทธิ์อมเทียนอมไฟ บางรายก็ปีนป่ายโรงครู จนถึงกับต้องเชิญลง ฯลฯ หากคนที่ไม่เคยเข้ามาร่วมงาน อาจค่อนข้างตกใจ แต่ทุกร่างก็ไม่ได้มีพิษมีภัยหรือให้ร้ายให้โทษแก่ผู้ใด

โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

ทุกคนจะเข้ามารวมในเขตโรงครู เพื่อเซ่นไหว้บูชา รำถวายครูหมอ บรรยากาศช่วงนี้ค่อนข้างชุลมุน โนราเจ้าพิธีและโนราใหญ่ผู้ช่วยทำหน้าที่ควบคุมความเรียบร้อย จึงต้องมีการขอร้องให้อยู่ในกฎระเบียบและขั้นตอนของพิธีกรรม ใครที่ฟังภาษาปักษ์ใต้ไม่ออก อาจต้องปวดหัวเล็กน้อย ดีที่สุดคือยืนหรือนั่งชมอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม

โนราโรงครูท่าแคจะมีพิธีกรรมเฉพาะ ซึ่งแตกต่างจากที่อื่นคือ “พิธีห่มต้นโพธิ์” เพราะเชื่อว่าเถ้ากระดูกของพ่อขุนศรีศรัทธา ถูกฝังอยู่ใต้ต้นโพธิ์นี้ โนราเจ้าพิธีจะเป็นผู้นำหัวผ้าสีแดง เหลือง ขาว เข้ามา โดยมีผู้เกี่ยวข้องขนาบซ้ายขวา ผู้ร่วมพิธีจะจับผ้าเดินตามหลัง วนรอบต้นโพธิ์สามรอบ ผ้าที่ห่มจะถูกเปลี่ยนใหม่เมื่อถึงพิธีในปีถัดไป

โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

“วันนี้จะมีการแต่งพอก สมัยก่อนโนราจะใช้การเดินโรงแสดง ใครมีสมบัติอะไรก็จะห่อไว้ในพอก ลักษณะเป็นผ้า เย็บเป็นชั้น ๆ ใช้ผ้าลอมปิดอีกทีแล้วสะพายหลัง แต่พอกถวายครูในความหมายคือ เพื่อให้โภคสมบัติพอกพูน งอกเงยขึ้นเรื่อยๆ”

ที่เอวของมโนราห์เจ้าพิธี จะมีผ้าตุ้มเล็ก ๆ เรียกว่า “ลูกพอก” ข้างในจะใส่เงิน หมาก พลู … หลังเสร็จพิธีนิยมมอบให้เจ้าของบ้านหรือเจ้าภาพ ในกรณีโรงครูไม่มีเจ้าภาพเช่นวัดท่าแค ลูกพอกจะมีคนมาขอบูชาไว้ล่วงหน้า เพราะเชื่อว่าเป็นเครื่องรางในการค้าขาย ช่วยเก็บเงินเก็บทอง ตามลักษณะลูกพอกที่ม้วนเป็นเกลียวเหนียวแน่น

"ลูกพอก" จะอยู่ที่เอวของโนราเจ้าพิธี (ภาพ : สุนันทา หามนตรี)
“ลูกพอก” จะอยู่ที่เอวของโนราเจ้าพิธี (ภาพ : สุนันทา หามนตรี)

ยามโนราแต่งองค์ทรงเครื่องเต็มยศ มักเปรียบว่ามีฐานะเท่าเทียมกษัตริย์ ไปไหนมาไหนต้องทรงช้าง ผ้าสีขาวที่ห้อยอยู่ด้านหน้าเครื่องแต่งกายของโนราเจ้าพิธี ที่เรียกว่า “ผ้างวงช้าง” จึงเปรียบดั่งเครื่องหมายแห่งเกียรติยศ

“เวลาไปรำที่อื่น นิยมเอาไว้ให้ลูกชายเจ้าของบ้าน ตามความเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายแสดงถึงอำนาจ จะทำให้มีบริวารมาก”

บทร้องบทรำในที่ใช้ในพิธีที่เรียกว่า 12 คำพลัด แท้จริงคือบทซึ่งพูดถึงวิถีชีวิตของคนสมัยก่อน แฝงคติคำสอนให้ถึงบุญคุณของพ่อแม่ ครูบาอาจารย์และผู้มีพระคุณ สอนเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ได้มีความหมายในเชิงลี้ลับมหัศจรรย์ หากตั้งใจฟัง (หรือฟังรู้เรื่อง) จะได้แง่คิดที่เป็นมงคลแก่ชีวิตมากมาย

"ผ้างวงช้าง" สัญลักษณ์แห่งเกียรติยศ
“ผ้างวงช้าง” สัญลักษณ์แห่งเกียรติยศ

“อย่างบทแสงทอง … แสงทองสวรรค์ฉายฉานเมื่อยามเช้า ซักผ้าม่านขาว …ฯลฯ เปรียบเหมือนวงจรชีวิตของคน แสงยามเช้าหมายถึงเด็ก ยังเป็นผ้าสีขาว จะแต่งเติมสีอะไรลงไปก็ย่อมได้ ต่อไปยามเที่ยง ยามบ่าย ยามค่ำก็ชักผ้าม่านดำ หมายถึงชีวิตก็ต้องสิ้นลงเหมือนกันทุกคน … บทจบสุดท้ายชื่อโสกัง … อนิจจาฝูงคน ลางบ้านก็พีก็ผอม บ้างทุกข์บ้างตรอม ลางบ้านก็ผอมเหมือนเป็นไข้ อนิจจา คนจะแก่จะอ่อนก็หล่นเหมือนใบไม้ … ฯลฯ สอนให้เรารู้จักปลงในสังขารว่าต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย” เกรียงเดชบอก

ใครที่เคยตั้งจิตอธิษฐานบนบานศาลกล่าว ขอความช่วยเหลือต่อพ่อขุนศรีศรัทธาไว้ เมื่อคำขอสัมฤทธิ์ผล ต้องมาแก้เหมรยหรือแก้บน ส่วนใหญ่มักบนด้วยการ “รำ” จะรำมโนราห์หรือรำออกพราน (สวมหน้าพรานสีแดง) อยู่ที่คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ บางคนไม่ได้ระบุว่าจะมารำที่นี่ ก็สามารถรำที่อื่นได้

“บนแบบไหน ให้ทำแบบนั้น”

โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

โดยนำพานดอกไม้ ธูป เทียน เงิน ไปกราบครูโนราใหญ่ เสร็จแล้วรำตามผู้นำ อาจเป็นโนราใหญ่หรือผู้ช่วย เมื่อรำเสร็จจะเข้าไปหาโนราใหญ่อีกครั้ง ซึ่งจะบอกกล่าวต่อครูหมอว่า คนนี้ได้มารำแก้บน ไม่ติดค้างสินบนอะไรต่อกันแล้ว

“บางคนก็มารำถวาย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง ไม่ได้มีมลทินกายมลทินใจติดค้างอะไรไว้”

จะมีการแสดงมโนราห์ เพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้มาร่วมงาน สลับการประกอบพิธีกรรม เพราะโนราแต่ละคนก็มีแฟนคลับหรือแม่ยกมิใช่น้อย บ้างก็เป็นแม่ยกมือใหม่ บ้างเดินทางไกลมาจากถิ่นอื่น เพื่อมาชมการแสดงโดยเฉพาะ ซึ่งมักจะไปจบในเวลาค่ำ

โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

“ผมไม่เคยทิ้งการเรียน เพราะเชื่อว่าการศึกษาจะนำพาให้เราหลุดพ้นจากความลำบาก ผมรำโนราตอนกลางคืนตั้งแต่อนุบาล อาศัยนอนกลางวันที่โรงเรียน บางทีออกก่อนเวลาเพราะแม่มารับไปรำ เข้าตื่นมาโรงเรียน วิถีชีวิตจะต่างจากคนอื่น ไม่เคยมีของเล่น ไม่ติดเกมอะไร มีแต่โรงเรียนกับโรงมโนราห์”

แม้จะถือว่าเป็นโนราเด็กที่มีชื่อเสียง ได้ขึ้นเวทีศรีวิชัยโชว์ ของเอกชัย ศรีวิชัย ศิลปินชื่อดังตั้งแต่อายุ 11 ปี แต่เด็กชายเกรียงเดชก็ไม่เคยละเลยการเรียน เช่นเดียวกับงานโนราโรงครู ที่เค้าต้องมาร่วมทุกปีไม่เคยขาด จนจบชั้น ม.3 โรงเรียนท่าแค อาจารย์ซึ่งเป็นเกลอกับน้าพงษ์ แนะนำให้ไปเรียนต่อนาฏศิลป์ แต่เค้าอยากเรียน ม.ปลาย ที่โรงเรียนพัทลุง จึงบอกกับอาจารย์ว่า ถ้าสอบไม่ติดจะไปเรียนนาฏศิลป์

“ผมสอบติดตัวสำรอง แต่เรียกถึงพอดี เลยได้เรียนต่อสายวิทย์-คณิต”

โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

ระหว่างเรียนก็ยังรำมโนราห์อยู่ตลอด จนจบ ม.6 เกรียงเดชซึ่งตอนนั้นยังไม่มีแนวทางชัดเจน ว่าตัวเองรัก ชอบ หรืออยากเรียนต่อทางไหนเป็นพิเศษ จังหวะเดียวกับเพื่อนมาส่งข่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่รู้จักในชื่อ “บางมด” ซึ่งมีชื่อเสียงระดับต้น ๆ ของประเทศ เปิดสอบตรงสาขาวิศวกรรมโยธา ชักชวนให้เค้าไปสอบด้วยกัน

“เพื่อนชวนไปเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ แต่ผมเป็นคนไม่เก่งภาษา เรียกว่าโง่ดักดานก็ได้ ตอนเรียนมัธยมเคยกาข้อสอบโดยไม่อ่านคำถาม แต่ตอนนั้นเป็นช่วงแรก ๆ ที่มีกระแสเรื่องประชาคมอาเซียน ถ้าไม่รู้ภาษาอังกฤษจะลำบาก ผมเลยคิดว่า เมื่อหนีไม่พ้น ก็ลองชนกับมันดู”

คนที่คิดว่าด้อยภาษา ต้องสอบสัมภาษณ์กับอาจารย์ฝรั่งถึงสอบรอบ แต่สองเกลอจากพัทลุงกลับสอบผ่าน ได้เข้าเรียนต่อสำเร็จ

“ผมกลับมาเล่าให้อาจารย์ที่พัทลุงฟัง แกร้องไห้เลย ไม่ใช่ดีใจนะ แต่กลัวผมเรียนไม่ไหว”

ความที่อ่อนวิชาภาษาอังกฤษ เป็นแรงผลักดันให้เค้ามุมานะมากกว่าเดิม เพราะนอกจากเกรดเฉลี่ยต่อเทอม ยังต้องผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษ หากไม่ผ่านจะถูกเชิญให้ออกหรือโดนรีไทร์ จาก 40 คน ในรุ่น จึงเหลือจบเพียง 12 คน … แม้จะเกิดเรื่องคาดไม่ถึงในระหว่างเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3

โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

ระหว่างการออกค่ายอาสา ในกิจกรรมวัฒนธรรมคืนถิ่น ของชมรมศิลปวัฒนธรรมทักษิณ ซึ่งเกรียงเดชรับหน้าที่หัวหน้าฝ่ายการแสดง เค้าลื่นหกล้มจนรู้สึกเจ็บขา คิดว่าเป็นการฟกช้ำธรรมดา แต่ผ่านมาหลายวันอาการก็ยังคงอยู่ วันหนึ่งปวดจนทนไม่ไหว จึงไปหาหมอที่โรงพยาบาล

“หมอบอกว่า ผมเป็นเนื้องอกที่กระดูก ต้องเข้ารับการผ่าตัดและต้องใช้ไม้เท้าช่วยเดิน เพราะขาคุณพร้อมจะหักได้ทุกเวลา”

กัลยาณมิตรร่วมชั้นเรียน ได้แนะนำให้เค้าย้ายมารักษาตัวที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ กับนายแพทย์ท่านหนึ่ง

“ผมป่วยเป็นโรค Giant cell Tumor หมอบอกว่าเป็นโชคร้ายของผม เพราะโรคนี้ยังหาสาเหตุของโรคไม่เจอ”

เกรียงเดชต้องต่อสู้กับความเจ็บปวด เข้ารับการผ่าตัดถึง 4 ครั้ง ขณะที่ยังต้องเรียนไปด้วย กระทั่งอาจารย์กลัวร่างกายจะรับไม่ไหวอยากให้ดรอปเรียน แต่เค้าเห็นใจครอบครัว ที่ต้องใช้ทุนทรัพย์จำนวนไม่น้อย เพื่อส่งเสียให้เล่าเรียน ยังมีค่ารักษาพยาบาลที่ค่อนข้างสูง จึงต่อสู้ฝ่าอุปสรรคไปพร้อมกับอาการป่วยและขาที่ดามเหล็กไว้ จนสำเร็จการศึกษาแม้จะเข้ารับปริญญาหลังเพื่อนร่วมรุ่นไปหนึ่งปี

โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

คนที่จะเป็น “โนราใหญ่” ต้องผ่านการพิธีครอบเทริด ผูกผ้าใหญ่ ซึ่งต้องทำในโรงครู เพื่อสถาปนาว่าโนราผู้นี้เป็นโนราใหญ่ สามารถประกอบพิธีกรรมโนราโรงครูได้ พิธีกรรมคล้าย ๆ การสวดญัตติพระ หลังจากนั้นจะต้องเข้าพิธีอุปสมบทจริงในทางพุทธศาสนาอีกครั้ง

“มีข้อบังคับว่า คนที่จะเป็นโนราใหญ่ นับแต่เกิดจากท้องแม่จนครบปีบวช ห้ามเสียความบริสุทธิ์ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเป็นโนราปาราชิก มีมลทินติดตัว ทำอะไรไม่เกิดความเป็นมงคล”

หากวันศุกร์ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของพิธีโนราโรงครูเป็นวันพระ จะต้องเลื่อนไปออกครูในวันเสาร์แทน วันนี้จะมีการ “เหยียบเสน” เสนเป็นเนื้อนูนบนผิวหนัง สีแดงเรียก “เสนทอง” สีดำเรียก “เสนดำ” มักโตตามอายุ มีความเชื่อว่าเกิดจากการผีโอกะแซงซึ่งเฝ้าเสาโรงครู ผู้ปกครองจะพาลูกหลานเข้ามาหาโนราเจ้าพิธี หรือโนราใหญ่ในโรงครู ให้ทำพิธีเหยียบเสน โดยลงอักขระที่หัวแม่เท้า บริกรรมคาถารำท่าเฆี่ยนพราย แตะหัวแม่เท้าไปที่เสน ทำซ้ำ 3 รอบ หากกลับไปยังไม่หาย จะต้องกลับมาทำซ้ำอีกให้ครบ 3 ครั้ง นับเป็นเรื่องแปลก ที่เสนจะค่อย ๆ หายไปในที่สุด โดยเฉพาะเมื่อได้มาเหยียบเสนกับโนราเจ้าพิธี เชื่อว่าเสนจะหายเร็วขึ้น เพราะมีพลังในการรักษาแรงกว่าคนอื่น

โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

เกรียงเดชมีความใฝ่ฝันอยากเข้าทำงานด้านพลังงาน จากการสอบสัมภาษณ์สองรอบ เพื่อแสดงความคิดและทัศนคติ เค้ามั่นใจว่าได้งานแน่นอน แต่ต้องผิดหวังเมื่อการสอบครั้งที่สาม เค้ามาพร้อมไม้เท้าพยุงกาย ซึ่งเค้าเข้าใจเหตุผลดี เพราะงานด้านนี้ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ หากร่างกายไม่พร้อมอาจเป็นอันตรายทั้งต่อตัวเองและงานที่รับผิดชอบ เลยเบนเข็มไปทำงานเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ มาประจำพื้นที่ในเมืองตากอากาศอย่างหัวหิน

“ผมชอบถ่ายรูป เลยพกกล้องไปถ่ายโน่นถ่ายนี่ระหว่างทำงาน จนได้ฉายาว่า Photo Engineering ภาพที่เราถ่ายบางภาพมันไปฟ้องความผิดของคนบางคนที่ปกปิดไว้ เลยกระทบกระทั่งกัน แต่เค้าก็แพ้ภัยตัวเองเพราะความผิดที่ก่อไว้”

โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

ความซื่อสัตย์ ขยัน เอาจริงเอาจัง ทำให้ได้รับความเมตตาจากบุคคลสำคัญในบริษัท ถ่ายทอดความรู้ทุกอย่างให้แบบหมดเปลือก ถึงขนาดจะมอบหมายเก้าอี้ในตำแหน่งสำคัญให้ แต่อาการป่วยกำเริบขึ้นอีกรอบ จนต้องกลับมาพักรักษาตัวที่บ้านพัทลุง

“กลับมาบ้าน ก็มีการเข้าทรงครูหมอ ครูหมอบอกว่า มันถึงเวลาของเจ้าแล้ว”

เกรียงเดชจึงตัดสินใจลาออกจากงานอย่างเป็นทางการ แต่ผู้ใหญ่ไม่อนุมัติ เค้าจึงให้สัจจะวาจาว่า หากตัดสินใจจะกลับมาทำงาน จะมาที่นี่แน่นอน

“ถึงผมจะไม่ได้กลับไปทำงานวิศวกร แต่ผมก็ภูมิใจว่า ผมเป็นมโนราห์วิศวกร ที่กำลังสร้างความสุขให้กับคนทั้งโลก”

โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

ตลอดวันสุดท้ายจะมีการร่ายรำ แสดงมโนราห์ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวในวรรณคดี สอดแทรกมุขตลกตามบท นอกบท เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากผู้ชมที่นั่งเฝ้ากันแบบไม่รู้เบื่อ บางเรื่องผูกโยงเพื่อดึงเข้าสู่พิธีกรรมสำคัญของวันคือ การรำคล้องหงส์และรำแทงเข้

“รำคล้องหงส์ จะเอาเรื่องพระสุธนมโนราห์มาเล่น แต่แฝงพิธีกรรมของคนใต้เข้าไป ความเชื่อเรื่องการคล้องหงส์เกี่ยวข้องกับแม่นวลทองสำลี หลังจากโดนลอยแพไปอยู่เกาะกะชัง มีการไปเชิญกลับแต่นางไม่กลับ จึงให้พรานบุญไปจับกลับเมือง เกิดเป็นการคล้องหงส์ พอจะเข้าบ้านเข้าเมืองก็มีจระเข้มาขวางคลอง เลยเกิดเป็นรำแทงเข้ แต่รำคล้องหงส์ของท่าแค จะใช้พระสุธนมโนราห์เดินเรื่อง ส่วนรำแทงเข้จะใช้เนื้อหาจากไกรทอง เพราะครูบาอาจารย์เราทำแบบนี้”

โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

โนราเจ้าพิธีจะสวมบทเป็น “พญาหงส์” โนราใหญ่อีก 6 คน เล่นเป็นหงส์ และมีผู้เล่นเป็นพรานบุญ 1 คน ในตอนคล้องพญาหงส์ หากผู้สวมบทพรานบุญมีอาวุโสอ่อนกว่า ต้องเปลี่ยนให้คนที่มีอาวุโสมากกว่าพญาหงส์มาเล่นแทน อย่างที่วัดท่าแค ผู้สวมบทพรานบุญเมื่อมาคล้องพญาหงส์คือ โนราผิน สายศิลป์สอง พ่อของโนราเจ้าพิธีนั่นเอง

โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

“ลักษณะการหมุนตอนถูกจับได้ หมุนรอบแรกคือหมุนทวนโบสถ์ จะมีการร่ายคาถาเพื่อคลายมนตร์ พอหมุนกลับคลายจากเชือก เหมือนคลายทุกข์คลายโศก ความเชื่อเป็นแบบนี้ … ส่วนรำแทงเข้ เป็นเรื่องสมมติ โดยนำไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง มีการเติมธาตุ บูชาด้วยของดิบ สร้างให้เค้ามีชีวิต เพื่อเป็นตัวแทนของสิ่งไม่ดี”

โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

โนราเจ้าพิธีจะสวมบทไกรทอง ใช้หอกแทงชาละวันให้ตาย เอาเท้าถีบให้หงายท้อง โนราใหญ่อีกหก จะร่วมกันใช้หอกแทง แล้วว่าบทปลงอนิจจัง ต่อจากนั้นทุกคนจะกรวดน้ำ เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ เป็นอันเสร็จพิธีโนราโรงครูประจำปี

“เคราะห์โศกสิ่งไม่ดีทุกอย่างจะตายไปพร้อมจระเข้ เงินที่คนนำมาใส่ปากจระเข้ จะเอาไปทำบุญและให้ทาน เพราะเป็นเงินสะเดาะเคราะห์ ไม่ควรเก็บไว้กับตัว”

โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

โรงครูจะถูกตั้งไว้สามวัน หลังจากนั้นถึงจะรื้อลงมาได้ … มโนราห์เป็นศาสตร์เก่าแก่ แตกย่อยสาขาจากครูบาอาจารย์ออกเป็นหลายสาย ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับต่อมโนราห์รุ่นหลังในจังหวัดพัทลุงมี 3 สาย คือ ขุนอุปถัมภ์นรากร หรือ โนราพุ่ม เทวา จะมีลักษณะการรำแบบนิ่ง ๆ ที่เรียกว่า “ท่าตาย” สายที่สอง โนรายก ชูบัว ศิลปินแห่งชาติ เอกลักษณ์ของสายนี้คือ ความอ่อนช้อยงดงาม สายที่สามคือ โนราแปลกดำ ท่าแค เน้นการรำที่เรียกว่า เบ็ดเตล็ดลีลา อ่อนนอกแข็งใน ถึงพริกถึงขิงได้อารมณ์ จนคนดูนั่งโยกตามไปด้วย

“โนราสมัยก่อน ค่อนข้างจะถือศักดิ์ถือศรี อยู่ใครอยู่มัน ไม่ข้องเกี่ยวกันสักเท่าไหร่”

หลังได้รับรางวัลถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี 2556 เกรียงเดชถูกเชิญเข้าร่วมแข่งขันรายการ “คนไทยขั้นเทพ” เพื่อประชันฝีมือในเรื่องราวของศิลปะการแสดงของแต่ละภาคทั่วประเทศ เมื่อผ่านรอบสรรหาได้เป็นตัวแทนภาคใต้ จึงมีความคิดอยากจะเห็นมโนราห์หลายสายมารวมกัน เพื่อแสดงความสามารถให้คนทั้งประเทศได้เห็น เป็นที่มาให้เค้าชักชวนมิตรสหายโนราใหญ่ จากสายครูต่าง ๆ มารวมเป็นทีม “เทพศรัทธา” อาทิ

"เทพศรัทธา" โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
“เทพศรัทธา” โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

นิรันต์รักษ์ ทองคำ (โนราเหรี๊ยบ) ผู้สืบสอดวิชาจากโนราพนมศิลป์ จังหวัดสงลา, พิเชษฐ์ หนองงอก (โนราไข่น้อย ดาวจรัสศิลป์) สายตระกูลขุนอุปถัมภ์นรากร, อรรถพล หอมคง (โนราโจ๊ก ดาวรุ่งศิษย์แม่นกน้อย) ลูกหลานโนราเดิม เมืองตรัง , นที แก้วมี (โนรานที มณีศิลป์) ศิษย์โนรายก ชูบัว, กิตติพงษ์ สุขรุ่ง นายโรงโนราเฉลิมชัย มลวิเชียร ลูกศิษย์ครูถวิล โนราหญิงชื่อดังแห่งเมืองพัทลุง, กทายุทธ์ ทองด้วง (มโนราห์ชะมด) ฯลฯ และนักแสดงผู้มีความสามารถ พร้อมผู้เชี่ยวชาญเครื่องดนตรีประกอบจังหวะระดับเทพอีกหลายคน การรวมตัวในครั้งนั้น ทำให้เทพศรัทธาเป็นขวัญใจมหาชนคนปักษ์ใต้ ยกทีมไปแสดงที่ไหน ผู้ชมทั้งนั่งทั้งยืนแน่นขนัด ชนิดใครมาทีหลังคงต้องยืนฟังแต่เสียงเพราะเข้าไม่ถึง

แม้ไม่ได้รางวัลชนะเลิศ แต่ “เทพศรัทธา” ได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญ นำพาความงดงามของศิลปวัฒนธรรมประจำถิ่น ประจักษ์แก่สายตาคนทั้งประเทศ ดั่งคำพูดของเกรียงเดชในฐานะตัวแทนของทีมได้กล่าวไว้

“ผมภูมิใจที่พามโนราห์ข้ามจังหวัดประจวบฯ มาได้”

โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

งานโนราโรงครูท่าแคเมื่อสามปีก่อน … เอกชัย ศรีวิชัย ถูกเชิญให้มาช่วยดูแลประสานงาน ตรวจความถูกต้องเรียบร้อย ระหว่างนั้นเค้าถูกครูหมอ ซึ่งเชื่อว่าเป็นพ่อขุนศรีศรัทธาประทับร่าง ท่ามกลางสายตาของคนนับพันที่มาร่วมงาน เรียกเกรียงเดชเข้ามาหาแล้วบอกว่า

“เกรียงเดชต้องมาทำพิธีกรรมโรงนี้ต่อไป”

เรื่องนี้เอกชัยเคยให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง ก่อนงานปีถัดมา โนราสมพงษ์เจ้าพิธีในขณะนั้น เกิดล้มหมอนนอนโรงพยาบาลกะทันหัน และเสียชีวิตในเวลาต่อมา เกรียงเดชจึงเข้ามาสืบทอดหน้าที่เจ้าพิธี ครั้งนี้เป็นปีที่สอง

“โนราใหญ่มีตั้งเยอะ ไม่ใช่ว่าใครจะมาทำพิธีที่โรงครูนี้ได้ ถ้าไม่ใช่คนที่เขาเลือก”

โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

หลายคนอาจมองว่าเป็นการทรงเจ้าเข้าผี แต่สำหรับเทือกเถาเหล่ากอมโนราห์แล้ว ทุกคนเชื่อในเรื่อง “ผู้สืบทอด” พิธีโนราโรงครูท่าแค แม้จะเกี่ยวเนื่องกับสิ่งลี้ลับที่มองไม่เห็น แต่หากพิจารณาอย่างถ้วนถี่ สิ่งเหล่านี้กลับทำให้มโนราห์ยังคงอยู่ ศิษย์ต่างครูได้มาพบปะ ลูกหลานพาปู่ย่าตายายมาทำบุญแล้วนั่งดูมโนราห์ด้วยกัน ความกตัญญูรู้คุณยังฝังอยู่ในราก ซึมซับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต โดยมีพิธีกรรมเป็นตัวเชื่อมโยง … ส่วนเกรียงเดช หลังกลับมาสืบทอดหน้าที่ อาการป่วยก็ทุเลาบรรเทาลงจนเกือบหายเป็นปกติ

“โนราไม่หายไปเพราะมีครูหมอ คนที่มีเชื้อสายครูหมอ ถ้าไม่รับช่วงต่อ ทิ้งหายไปหรือลืมเขา เขาก็จะมาให้โทษเรา”

โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
โนราโรงครูท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

หมายเหตุ : บทความนี้ เขียนขึ้นจากการสัมภาษณ์ พูดคุยและอยู่ร่วมในพิธีโนราโรงครูท่าแค ปี 2559 บางเรื่องจึงเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ทุกคน “เชื่อ” โปรดใช้วิจารญาณในการอ่าน
กราบขอขมาครูหมอ หากได้ล่วงเกินท่านโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขออภัยชาวท่าแคและผู้ร่วมงานทุกท่าน ที่ในบางจังหวะของการทำงาน เข้าไปบดบังทัศนวิสัยในการรับชมพิธีกรรมและการแสดงโดยไม่เจตนา

ขอขอบคุณ
เกรียงเดช ขำณรงค์ และทีมเทพศรัทธา
กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานหาดใหญ่