แห่ต้นดอกไม้ พุทธบูชาจากศรัทธาและความเชื่อ

“การแห่ต้นดอกไม้เป็นประเพณีช่วงบุญสงกรานต์เดือนห้าตามจันทรคติแบบไทย เริ่มแห่วันแรก ๑๔ เมษายน ของทุกปี และจะทำต่ออีกในทุกวันพระตลอดเดือนห้า ปีนี้(๒๕๖๒) วันพระสุดท้ายตรงกับวันที่ ๓ พฤษภาคม ซึ่งถือว่าเป็นวันสิ้นสุดเทศกาลสงกรานต์ของบ้านแสงภา”

สมบัติ ชิดทิด กำนันตำบลแสงภา อ.นาแห้ว จ.เลย ที่คุ้นเคยคลุกคลีประเพณีแห่ต้นดอกไม้มาตั้งแต่เด็กบอกกับเรา เช่นเดียวกับผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านต่างพูดทำนองเดียวกันว่า จำความได้ก็เห็นงานแห่ต้นดอกไม้ในทุกปี สอบถามปู่ย่าตายายของตัวเองก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่สมัยนั้นขนาดอาจจะไม่สูงใหญ่เหมือนปัจจุบัน

แห่ต้นดอกไม้บ้านแสงภา

ประวัติหมู่บ้านกล่าวถึง “เซียงภา” บรรพบุรุษของคนแสงภาที่ข้ามจากฝั่งลาวเข้ามาล่าสัตว์ เห็นว่าบริเวณนี้เป็นชัยภูมิที่ดีน้ำท่าบริบูรณ์ จึงชักชวนสมัครพรรคพวกเข้ามาตั้งชุมชน แต่ไม่มีบันทึกหลักฐานการแห่ต้นดอกไม้ว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มีเพียงจารึกบนคัมภีร์ใบลานในหอพระไตรปิฎกหรือหอไตรวัดศรีโพธิ์ชัย กล่าวถึงอานิสงส์ของการถวายต้นดอกไม้ในวันขึ้นปีใหม่ไทยว่าเป็นบุญกุศลมงคลกับชีวิต อยู่เย็นเป็นสุข สัตว์เลี้ยงในคอกออกลูกออกหลาน ฝนตกต้องตามฤดูกาล จึงสันนิษฐานกันว่าน่าจะมีมาพร้อม ๆ กับการสร้างวัดราว ๔๗๕ ปี เริ่มต้นอาจเพียงนำใส่พานไม้ถวายพระ แล้วค่อยวิวัฒนาการรูปแบบรูปทรงตามกาลเวลา จากถือมาถวายของใครของมัน เพิ่มเป็นขนาดใหญ่ร่วมกันทำทั้งชุมชนและใช้คนแบกหลายคน

แห่ต้นดอกไม้บ้านแสงภา
“ต้นดอกไม้จะไม่ทำไว้ล่วงหน้า ต้องทำให้เสร็จและถวายภายในวันเดียว”

แสงแดดอันร้อนระอุของเดือนเมษา ไม่อาจเผาผลาญความเชื่อทำลายศรัทธาของชาวบ้านตามคุ้มต่าง ๆ ซึ่งแบ่งหน้าที่ทำงานกันอย่างขะมักเขม้น ฝ่ายชายตัดไผ่มาเหลา จักตอก ขึ้นโครงสร้าง ฝ่ายหญิงออกเก็บดอกไม้และทำอาหาร ร่วมแรงสร้างให้สำเร็จเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในค่ำคืนของวันพระนั้น

แห่ต้นดอกไม้บ้านแสงภา

“โครงสร้างของต้นดอกไม้ประกอบด้วย “คาน” ที่ใช้หาม คานจะถูกยึดด้วย “ขาธนู” สองส่วนนี้คือฐานของต้นดอกไม้ เสาด้านนอกจะเรียกว่า “ง่าม” ฐานจัตุรัสที่รัดมุมทั้งสี่เรียกว่า “พ่ง” โดยมี “แกนกลาง” เป็นแกนค้ำยันต้นดอกไม้ ระแนงสานสำหรับประดับดอกไม้เรียกว่า “ลี้ก” ส่วนสำหรับห้อยมาลัยเรียกว่า “คันกล่อง” โดยมี “แมงมุม” เป็นส่วนประกอบบนยอดสูงสุด”

แห่ต้นดอกไม้บ้านแสงภา

ผู้ชายจะนัดหมายกันแต่เช้า เพื่อออกไปตัดไม้ไผ่ในละแวกหมู่บ้าน การตัดไผ่ไม่ใช่เรื่องลำบาก แต่การเลือกชนิดซึ่งเหมาะกับการนำมาใช้เหล่านี้เป็นภูมิปัญญาซึ่งต่อยอดมาจากการสร้างบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างสมัยก่อน ไผ่หกลำใหญ่ใช้ทำเสาเรือน เหมาะสำหรับทำคานหาม ตอกสำหรับมัดเหลาจากไผ่บงและไผ่ข้าวหลามที่เนื้อค่อนข้างนิ่ม ส่วนไผ่เฮียะซึ่งใช้ทำฟาก ฝาบ้าน ถูกใช้เป็นระแนงหรือลี้กสำหรับผูกดอกไม้

แห่ต้นดอกไม้บ้านแสงภา

“ยากตอนทำโครง คนตัดไม้ส่วนใหญ่จะแยกกันตัด คนนี้ตัดไม้มาทำง่าม คนนั้นหาไม้ทำโครง ง่ามใหญ่เกินไปก็แข็ง ไม่หมุนหรือเหวี่ยง เป็นศาสตร์ที่ต้องอาศัยความชำนาญในการเลือกไม้ด้วย”

แห่ต้นดอกไม้บ้านแสงภา

ดอกไม้สีสันสวยงามตามฤดูกาลอย่าง คูน เฟื่องฟ้า หางนกยูง จำปาหรือลั่นทม ฯลฯ ที่ขึ้นอยู่ริมทางหรือหัวไร่ปลายนา ถูกนำมามัดเป็นช่อสำหรับประดับตกแต่ง ไปพร้อม ๆ กับการเล่นสาดน้ำคลายร้อนฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนาน ผลพลอยได้จากน้ำยังเพิ่มความเหนียวและยึดหยุ่นให้เนื้อไผ่ เมื่อเสร็จสมบูรณ์แต่ละคุ้มจะช่วยกันแบกต้นดอกไม้ไปตั้งบนลานข้างอุโบสถวัดศรีโพธิ์ชัย เพื่อเตรียมถวายและแห่ในตอนค่ำ

แห่ต้นดอกไม้บ้านแสงภา
ช่วงเย็นชาวบ้านจะเริ่มทยอยเดินทางมาที่วัด เข้าไปกราบพระประธานในอุโบสถ จุดเทียนบนคานหามตามความเชื่อที่ว่า จะสมปรารถนาประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำ เมื่อถึงเวลาจะมีคนปีนและมุดเข้าไปจุดเทียนเล่มใหญ่ที่อยู่ด้านในต้นดอกไม้ จากนั้นจึงร่วมกันไหว้พระกล่าวคำถวายแล้วแห่ไปรอบอุโบสถ ๓ รอบ เพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตามจังหวะเสียงเพลงหรือเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่าง กลอง พิณ แคน ฉิ่งฉาบ ในท่วงทำนองสนุกสนาน

แห่ต้นดอกไม้บ้านแสงภา
“คนหามต้องฝึกฝนจังหวะการก้าว เดินหน้าถอยหลังให้พร้อมเพรียง จังหวะการเคลื่อนไหวทำให้เกิดแรงเหวี่ยงไปมาคล้ายสปริง ทำให้ต้นดอกไม้แกว่งลักษณะเหมือนหมุนไปมาเพราะโดนลมพัด ถ้าเตี้ยไปจะไม่หมุน ใหญ่ขนาดไหนขอให้หมุน คนหาบจะสนุก เป็นภูมิปัญญาในการคำนวณ เป็นศาสตร์ที่ต้องคิดตั้งแต่เลือกไม้ไผ่ ว่าลำขนาดไหนถึงจะเหมาะกับการนำมาใช้ ใหญ่เกินไปก็แข็งเล็กเกินไปเหวี่ยงนาน ๆ บางต้นก็หักโค่นก่อนครบ ๓ รอบ ตอกที่มัดก็สำคัญเพราะมีความยืดหยุ่นสูงไม่ขาดง่าย เวลาเอาไปทิ้งไม่สร้างมลภาวะ ถ้าใช้ลวดมัดจะบาดผิวไผ่ทำให้หักได้ ตะปูตอกแล้วพอโยกนาน ๆ มักจะหลุด”

แห่ต้นดอกไม้บ้านแสงภา
ต้นดอกไม้จะถูกตั้งไว้รอบอุโบสถเพื่อบูชาพระรัตนตรัยตลอดคืน รุ่งเช้าชาวบ้านจะเข้ามาช่วยกันเก็บ บางคนก็นำไปทำคอกเป็ดคอกไก่หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อ ถึงเวลาแห่อีกครั้งจึงทำขึ้นใหม่ ไม่นิยมซ่อมแซมของเดิมเพื่อนำมาใช้อีก หลายปีก่อนกำนันสมบัติเคยจัดประกวดประชันพร้อมรางวัลล่อใจ โดยตัดสินที่รูปทรง ความสูงใหญ่ ปริมาณดอกไม้เยอะสีสวย ลีลาการโยกดี แห่หลายรอบไม่เสียรูปทรง กระทบกระเทือนความสัมพันธ์อันดีและน้ำจิตน้ำใจที่มีต่อกันในชุมชน จากที่เคยเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแบ่งตอกแบ่งดอกไม้แม้อยู่ต่างคุ้ม กลับมองเห็นเป็นฝ่ายตรงข้าม ทำได้อยู่สองสามปีจึงยกเลิก วิถีดั้งเดิมจึงคืนกลับมา

แห่ต้นดอกไม้บ้านแสงภา
“วันที่ ๑๔ เมษา แห่ครั้งแรกคนจะเยอะมาก ทั้งนักท่องเที่ยว ลูกหลานบ้านแสงภาที่ไปเรียนไปทำงานที่อื่นก็กลับมาร่วมบุญ แต่ต้นดอกไม้ก็มีเยอะและต้นสูง ๆ เกือบทั้งนั้น วัดพระถัดมาคนจะเริ่มน้อยลง อาจเหลือแค่คนในชุมชน ต้นดอกไม้ก็ลดลงด้วย วันพระสุดท้ายของเดือนห้าจะได้เห็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนบ้านแสงภา ต้นดอกไม้อาจมีสองสามต้น ไม่มีเครื่องเสียงใช้แค่ กลอง พิณ ฉิ่งฉาบ วันนั้นเราจะอันเชิญพระพุทธรูปองค์เล็กที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือออกมาสรงน้ำ แล้วก็ไปสรงน้ำพระพุทธรูปที่ต้นน้ำ สรงน้ำพระสงฆ์ในวัด เป็นการปิดเทศกาลสงกรานต์ของปี”

แห่ต้นดอกไม้บ้านแสงภา

การทำต้นดอกไม้ยังส่งผ่านภูมิปัญญาต่อไปยังคนรุ่นหลังโดยอัตโนมัติ จากการจดจำเรียนรู้มีส่วนร่วมลงมือทำทุกปี ทุกวันนี้ยังเปิดสอนถ่ายทอดวิชากันแบบเป็นเรื่องเป็นราว จึงเห็นต้นดอกไม้เล็ก ๆ ของเด็ก ๆ ได้เข้าไปร่วมขบวนแห่ด้วย ทำให้ชาวบ้านแสงภาเชื่อว่า ประเพณีอันงดงามของบรรพบุรุษจะคงอยู่สืบไปชั่วลูกชั่วหลาน

เรื่อง/ภาพ ธนิสร หลักชัย

artoftraveler.com